ด่วน! ยุบ ศบค.-ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผล 1 ต.ค. 2565

ทั่วไป

ศบค.ชุดใหญ่ มีมติ ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” คุมการระบาดโควิด-19 พร้อม ยุบ “ศบค.” หลัง คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง โดยมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

23 กันยายน 2565 – พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 12/2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุม ศบค. เห็นควรให้พิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาการ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.รับทราบแผนการบริหารจัดการวัคซีน Pfizer ฝาสีแดงเข้ม สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี คาดว่าจะได้รับมอบประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565

ที่ประชุม ศบค. เห็นควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พร้อม “ยุบ ศบค.”

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พลเอกประวิตร เป็นประธาน เห็นชอบยกเลิกประกาศการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อกลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ภายหลังจากจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โควิด-19 จากที่เป็นโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของศบค. ก็จะถูกยุบตามไปด้วย

ปรับโควิดจาก ‘โรคติดต่อร้ายแรง’ เป็น ‘โรคติดต่อเฝ้าระวัง’ แต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นเพียง ‘โรคประจำถิ่น’

ด้าน นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวก่อนการประชุม ศบค. ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน

ส่วนการตรวจ ATK ที่รายงานเข้าระบบมีประมาณ 13,000-14,000 คนต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง จึงเป็นเหตุผลการเปลี่ยนผ่านสถานะของโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้

ดังนั้น เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง สามารถผ่อนคลายกิจกรรมได้ แต่ยังย้ำให้ประชาชนทุกคนต้องดูแลตัวเอง ประเมินความเสี่ยง ไม่ไปในที่แออัด สวมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมเน้นย้ำเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น (booster) มีประโยชน์ 

ที่ปรึกษา ศบค. ยืนยันว่า หากมีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลไม่กังวล เพราะได้มีการวางระบบไว้หมดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดย ศบค. ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้

ยุบ ศบค. ไม่เกิดสุญญากาศ ประสานกระทรวงต่างๆ ดูแลงานต่อแล้ว 

นายแพทย์อุดม เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต้องยุบ ศบค. ไปด้วย โดยวันนี้จะหารือกันเบื้องต้นให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายงานเหมือนกับ ศบค. เพื่อให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกันก่อน เพื่อรอการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ที่ขณะนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่เกิดสุญญากาศระหว่างรอกฏหมาย เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่รุนแรง กระทรวงต่างๆ คุ้นเคยและมีการเชื่อมโยงการทำงานกันหมดแล้ว

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)