ยกแรกคดีพลิก ศาล EU พิพากษา Apple ไม่ต้องจ่ายภาษีให้ไอร์แลนด์

ต่างประเทศ

ศาล EU พิพากษา Apple ไม่ต้องจ่ายภาษีให้ไอร์แลนด์แล้ว เพราะ EU พิสูจน์ไม่ได้ว่า Apple ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากรัฐบาลไอร์แลนด์ที่แตกต่างผู้เสียภาษีรายอื่นอย่างไร Apple จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังตามคำสั่งของ European Commission

เดิมไอร์แลนด์ไม่อยากเก็บภาษี แต่ EU สั่งให้เก็บ

ย้อนไปเมื่อปี 2016 European Commission เห็นว่า Apple และรัฐบาลไอร์แลนด์ร่วมกันวางแผนเปิดช่องให้บริษัทลูกของ Apple ที่ตั้งในประเทศไอร์แลนด์อาศัยสิทธิประโยชน์จากไอร์แลนด์ในฐานะสมาชิก EU เพื่อทำธุรกิจในยุโรปและเสียภาษีในอัตราไม่ถึง 1% โดยที่ประเทศอื่นในยุโรปก็ไม่สามารถเก็บภาษีกับ Apple ได้ด้วย (เพราะ Apple อาศัยสิทธิของไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิก EU)

ตอนนั้น EU สั่งให้รัฐบาลไอร์แลนด์เก็บภาษีย้อนหลังจาก Apple แต่รัฐบาลไอร์แลนด์ปฏิเสธที่จะเก็บภาษีกับ Apple โดยให้เหตุผลว่า Apple จ่ายภาษีครบทุกยูโรแล้วและไม่มีเหตุให้เก็บภาษีกับ Apple เพิ่มเติมได้อีก เรื่องนี้จึงนำมาสู่การอุทธรณ์คำสั่งของ European Commission ดังกล่าวโดย Apple และรัฐบาลไอร์แลนด์

คดีนี้ได้ขึ้นสู่ศาล EU และล่าสุด ศาล EU พิพากษามาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563 โดยเห็นว่า EU พิสูจน์ไม่ได้ว่า Apple ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากรัฐบาลไอร์แลนด์ที่แตกต่างผู้เสียภาษีรายอื่นอย่างไร Apple จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังตามคำสั่งของ European Commission

วิเคราะห์ประเด็นจากคำพิพากษา

แต่อย่างไรก็ดี คำพิพากษานี้มีประเด็นน่าวิเคราะห์ต่ออย่างน้อย 2 ประเด็น ดังนี้

1) สถานการณ์โควิดแบบนี้ทำให้ไอร์แลนด์เปลี่ยนใจอยากเก็บภาษี Apple รึยัง?

คดีนี้รัฐบาลไอร์แลนด์เป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งเก็บให้ภาษีย้อนหลังของ European Commission และในที่สุดก็ชนะคดีสมใจ ไม่ต้องเก็บภาษี Apple แล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อตอนต้นปี 2018 Apple วางเงินประกันเงินค่าภาษีย้อนหลังให้รัฐบาลไอร์แลนด์ (รวมดอกเบี้ย) เป็นเงิน 14,300 ล้านยูโร (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) โดยเข้าบัญชีดูแลผลประโยชน์ (Escrow) ไปก่อน

แต่ประเด็นสำคัญคือ อย่าลืมว่าช่วงนี้โควิด-19 เล่นงานเศรษฐกิจโลกพังยับ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไอร์แลนด์ด้วย จังหวะนี้เป็นเวลาที่รัฐบาลไอร์แลนด์ต้องการเงินมาช่วยคนในประเทศ ผลของคำพิพากษาแบบนี้แม้จะชนะคดีสมความตั้งใจตอนแรกของรัฐบาลไอร์แลนด์ แต่ถ้า Apple ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีให้ไอร์แลนด์ เมื่อคดีถึงที่สุด รัฐบาลไอร์แลนด์จะต้องคืนเงินวางประกันค่าภาษีจำนวน 5 แสนล้านบาทในบัญชี Escrow ให้ Apple ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นผลดีกับประเทศไอร์แลนด์ในสถานการณ์แบบนี้หรือไม่

คดีนี้ยังเปิดโอกาสให้ EU อุทธรณ์ได้อยู่ ถ้ายังไม่พ้นกำหนดยื่นอุทธรณ์ คดีก็ยังไม่เรียกว่าถึงที่สุด ถ้า EU อุทธรณ์ ก็มีโอกาสพลิกกลับมาชนะคดีก็ได้

น่าสนใจว่ารัฐบาลไอร์แลนด์เองนั่นแหละที่อยากลุ้นให้ EU มาอุทธรณ์และภาวนาให้ EU ชนะคดีรอบหลังแทนรึเปล่า ตัวเองจะได้เก็บเงิน 5 แสนล้านไปพยุงเศรษฐกิจ ไม่ต้องคืน Apple แล้ว

2) คดีนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิด Global Collaboration ของสรรพากรทั่วโลกเร็วขึ้นหรือไม่?

คดีนี้เป็นอีกตัวอย่างนึงที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากฎหมายภาษีที่ถูกเขียนในยุค Industrial Age พ่ายแพ้ต่อธุรกิจยุค Digital Age ไปอีกยกแล้ว

ด้วยบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่ากฎหมาย วิธีคิดที่แต่ละประเทศต่างออกกฎหมายภาษีของตัวเองเห็นชัดแล้วว่าเริ่มไม่เวิร์ค

สิ่งที่ควรเกิดขึ้น และเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นแล้วด้วยคือ Global Collaboration ของสรรพากรประเทศต่างๆ ที่ต้องร่วมกันกำหนดกติกายุคใหม่ (สรรพากรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว) เพื่อจะได้อุดช่องว่างให้หมด ซึ่งตอนนี้มีการพูดคุยกันถึงขนาดว่าจะให้สรรพากรในประเทศที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ทำหน้าที่เก็บภาษีแล้วแบ่งคืนกลับมาให้ประเทศเจ้าของที่มาแหล่งเงินได้ตามสัดส่วนรายได้ที่บริษัทนั้นได้รับด้วย

เช่น

ถ้าเก็บสรรพากรประเทศ A เก็บภาษีจากบริษัท ก. ได้ 100 บาท และพบว่าบริษัท ก. มีรายได้จากประเทศ A มา 20% และจากประเทศ B มา 80% แบบนี้สรรพากรประเทศ A จะเก็บภาษีไว้ได้ 20 บาท แล้วต้องนำส่งภาษี 80 บาทให้สรรพากรประเทศ B ไป

สิ่งที่ทำให้สรรพากรหลายประเทศกล้าจินตนาการถึงสิ่งเหล่านี้ได้ คือ การมาของเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้อย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคจ่ายเงินจากประเทศไหน เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายรับทั้งหมด

ดังนั้น การแบ่งเค้กตามตัวอย่างข้างต้นจะไม่ใช่เรื่องยากถ้าสรรพากรทุกประเทศร่วมมือกันได้ เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีอีกแล้ว เราจึงเห็นได้ว่าเทคโนโลยีกำลังจะทำให้ต้นทุนการหลบภาษีสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีอย่าง Apple

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)