มติ ครม.ช่วย ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 7 เดือน

ทั่วไป

ครม. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาบรรเทาค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปาให้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 7 เดือน เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2565 – เมษายน 2566

27 กันยายน 2565 – นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2565 – เมษายน 2566 รวมเป็นเวลา 7 เดือน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จํานวน 1,933.05  ล้านบาท แบ่งเป็นสนับสนุนค่าไฟฟ้า จํานวน 1,786.05 ล้านบาท  ช่วยเหลือประมาณ 810,000 ครัวเรือน และงบประมาณสนับสนุนค่าน้ําประปา จํานวน 147 ล้านบาท ช่วยเหลือประมาณ 210,000 ครัวเรือน

รายละเอียดมาตรการบรรเทา ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา ให้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา มีรายละเอียดดังนี้ 

บรรเทาค่าไฟฟ้าให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

  1. กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน  ให้ใช้สิทธิ์ค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน 
  2. กรณีใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิ์ตามมาตรการน้ี ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน 
  3. กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กําหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระ ค่าไฟฟ้าทั้งหมด 

บรรเทาค่าน้ำประปาให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

  1. กรณีที่ใช้น้ําประปา ไม่เกิน 315 บาท จะได้เงินสนับสนุน ค่าน้ําประปาในวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน 
  2. กรณีที่ใช้น้ําประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ จะเป็นผู้รับภาระในการชําระค่าน้ําประปาท้ังหมด 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้น จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 65 ดังนั้น มติ ครม. ในครั้งนี้ จึงเป็นการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาออกไปอีก 7 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้มีบัตรฯ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมผู้มีบัตรฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวมากขึ้น

สิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดภาระค่าครองชีพ เช่น

  1. ค่าซื้อสินค้า 200-300 บาท
  2. ค่าเดินทางรถโดยสารสาธารณะ 500 บาท
  3. ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท (ต่อรอบ 3 เดือน) กรณีเป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้ส่วนลด 100 บาท (ต่อรอบ 3 เดือน)
  4. เงินช่วยค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาทต่อครัวเรือน (ตามที่จ่ายจริง)
  5. เงินช่วยค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือน (ตามที่จ่ายจริง)
  6. เงินพิเศษผู้พิการ 200 บาท
  7. ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย ร้านค้าขนาดเล็กต่างๆ จะได้ส่วนลดก๊าซหุงต้มพีที (ปตท.) 100 บาท ที่ร้านจำหน่ายที่ร่วมโครงการ
  8. เงินพิเศษผู้สูงอายุ 50-100 บาท (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์รายได้)

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนสมัครบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป
  2. ไม่เป็นบุคคล ดังต่อไปนี้
    • ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
    • ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง
    • บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ
    • ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
    • ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
    • ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
  3. ว่างงานหรือมีรายได้ส่วนตัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)
  4. ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตร และตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)
  5. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือถ้ามีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
    • กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว
      1. ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
        • กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา และ/หรือ ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
        • กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
      2. ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
        • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่หรือ
        • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
    • กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว
      1. ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
        • กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว 
          • ผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
          • ผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
          • ผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
          • ผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
        • กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
      2. ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
        • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ
        • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
  6. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
  7. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ได้แก่ วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และ/หรือ วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิ ลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เช็กผลการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 (ประกาศทุกวันศุกร์)

รอบที่ 1

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 5 – 8 กันยายน 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 16 กันยายน 2565

รอบที่ 2

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 9 – 15 กันยายน 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 23 กันยายน 2565

รอบที่ 3

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 16 – 22 กันยายน 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 30 กันยายน 2565

รอบที่ 4

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 23 – 29 กันยายน 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2565

รอบที่ 5

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 14 ตุลาคม 2565

รอบที่ 6

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 7 – 13 ตุลาคม 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 21 ตุลาคม 2565

รอบที่ 7

  • ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 14 – 19 ตุลาคม 2565
  • ประกาศผลภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2565

กรณีผ่านคุณสมบัติ

  • ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติจะต้องยืนยันตัวตนที่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย โดยสามารถยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ได้ตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

กรณีไม่ผ่านคุณสมบัติ

  • ผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติสามารถดำเนินการยื่นเรื่องอุทธรณ์ให้พิจารณาใหม่ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือช่องทางอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนด เริ่มตั้งแต่ 9 – 31 มกราคม 2566

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการลงทะเบียนบัตรคนจน 2565

  • คนในครอบครัวเดียวกัน เช่น สามีภรรยา ที่เป็นคู่สมรสกันก็สามารถลงทะเบียนได้ทั้งคู่ ไม่ใช่หนึ่งครอบครัวหนึ่งสิทธิ ดังนั้น หากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติก็มีสิทธิที่จะเป็นผู้ได้รับสิทธิทั้งสามีและภรรยา
  • ในการลงทะเบียนหากมีการบันทึกข้อมูล ในระบบแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ด้วยเหตุนี้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลที่กรอกในแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ถูกต้อง ก่อนบันทึกข้อมูล
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)