ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง แต่ไม่ขึ้น ภาษีผ้าอนามัย 30%

ภาษี

2,611 VIEWS

กรมสรรพสามิต-กรมศุลกากร-รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงตรงกัน ว่า “ผ้าอนามัยแบบสอด” เป็นสินค้าควบคุม ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ไม่มีผลให้ขึ้น ‘ภาษีผ้าอนามัย’ ถึง 30% ตามที่ประชาชนกังวลในโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ยัน ‘ผ้าอนามัยแบบสอด’ ขึ้น ภาษีผ้าอนามัย 30% ไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าควบคุม

ตามที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสําอาง ตาม กฎกระทรวง กําหนดวัตถุอื่นเป็นเคเครื่องสำอาง พ.ศ. 2564 จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็น ภาษีผ้าอนามัย โดยเฉพาะการเก็บภาษีเครื่องสำอาง 30% ทั้งที่ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสชี้แจงบนเฟสบุ๊คเพจ กวาง ไตรศุลี ไตรสรณกุล ว่า “ผ้าอนามัยแบบสอด” ว่าเป็นสินค้าควบคุม โดยยืนยันว่าไม่มีการขึ้นภาษีถึง 30% ตามที่ประชาชนกังวลแต่อย่างใด โดยมีข้อความว่า

“ยืนยัน ผ้าอนามัย เป็นสินค้าควบคุม ไม่ขึ้นภาษี

ชี้แจง ประกาศราชกิจจาฯ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง ดังนี้

  1. ปัจจุบันมีผ้าอนามัย 2 ชนิด คือ ผ้าอนามัยใช้ภายนอกและชนิดสอด ทั้ง 2 ชนิด ถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2528 เพราะเข้ากับนิยามเครื่องสำอางคือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ
  2. ปี 2558 มีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องสำอางใหม่ มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง แต่ผ้าอนามัยใช้ภายนอก ยังเป็นเครื่องสำอาง
  3. จึงเป็นเหตุผลให้ต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอด เป็นเครื่องสำอาง
  4. ผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ถึง 30% ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่น”

“พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ กฏกระทรวงได้เปลี่ยนประเภทผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง (ตามนิยามของ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง) โดยที่ไม่ได้จะจัดเก็บภาษีเพิ่มแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นทางภาษีที่เข้าใจผิดกัน อธิบายคร่าวๆ คือ

ภาษีนำเข้า – ศุลกากรเก็บ
– เครื่องสำอาง มีภาษีอยู่ที่ 30%
*** แต่ไม่ได้เก็บผ้าอนามัย เพราะไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คนเลยอาจจะเข้าใจผิด

ภาษีมูลค่าเพิ่ม – สรรพากรเป็นคนเก็บ

ดังนั้นทุกวันนี้ที่เราซื้อของ เราก็ไม่ได้จ่ายภาษีนำเข้า แต่เราจะมี Vat 7% ที่ต้องจ่ายรวมในราคาของเป็นปกติอยู่แล้ว

ทั้งที่จริงเค้าแค่ออกประกาศว่าให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง ไม่เกี่ยวกะภาษี” นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล ชี้แจงเพิ่มเติม

กรมสรรสามิต-กรมศุลกากร ยืนยัน ผ้าอนามัยแบบสอด ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ไม่มีการขึ้นภาษีและไม่เคยเก็บ ‘ภาษีผ้าอนามัย’

นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า ผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย 

อธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า กรมสรรพสามิตไม่มีนโยบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8% ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยหรือมีเพดานการจัดเก็บภาษี 30% ตามที่เป็นข่าว

ทางด้าน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่ากรณีที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี แต่เพื่อเป็นการควบคุมตามกฎหมายของสาธารณสุข โดยกรมศุลกากรยืนยันว่าไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรเกี่ยวกับสินค้าผ้าอนามัยแบบสอดแต่อย่างใด

ที่สำคัญ หากมีการนำเข้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีกด้วย

แนวทางลด ภาษีผ้าอนามัย (Tampon Tax) ในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีการพูดถึงเรื่องแนวทางการขอลดภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสตรีให้ ผ้าอนามัยไม่มีภาษี เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น ยารักษาโรค เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ซึ่งในต่างประเทศได้มีนโยบายยกเลิกภาษีผ้าอนามัย (Tampon Tax) อย่างไรกันบ้าง

เคนยา

  • ประเทศเคนยา ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ยกเลิกภาษีการบริโภคสำหรับผ้าอนามัย โดยยกเลิกภาษีไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

สหรัฐอเมริกา

  • 5 มลรัฐไม่เก็บภาษีการบริโภคอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบ ได้แก่
    • อลาสก้า
    • เดลาแวร์
    • มอนเทนา
    • นิวแฮมเชียร์ และ
    • ออเรกอน  
  • ในขณะที่ 13 รัฐที่เก็บภาษีการบริโภคได้ประกาศยกเลิกภาษีการบริโภคสำหรับผ้าอนามัย ได้แก่
    • โอไฮโอ
    • แคลิฟอร์เนีย
    • คอนเน็คติคัต
    • ฟลอริด้า
    • อิลลินอยส์
    • แมรี่แลนด์
    • แมสซาชูเซตส์
    • มินเนสโซตา
    • นิวเจอร์ซี่
    • นิวยอร์ค
    • เนวาดา
    • เพนซิลวาเนีย และ
    • โร้ด ไอแลนด์

แคนาดา

  • ยกเลิกภาษีการบริโภค 10% สำหรับผ้าอนามัย เมื่อปี พ.ศ. 2558

เยอรมัน

  • ลดภาษีการบริโภคจาก 19% ซึ่งเป็นอัตราภาษีสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย เหลือ 7% ซึ่งเป็นอัตราภาษีสำหรับสินค้าในชีวิตประจำวันทั่วไป เมื่อถึงวันที่ 1 ม.ค. 2563

ออสเตรเลีย

  • ยกเลิกภาษีการบริโภค 10% สำหรับผ้าอนามัย เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2562

อินเดีย

  • ยกเลิกภาษีการบริโภค 12% สำหรับผ้าอนามัย เมื่อปี 2561

อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศก็ยังไม่มีการยกเลิกภาษีและรัฐบาลก็ยังไม่มีการพูดถึงก็มี เช่น สหราชอาณาจักร หากจะมีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยก็น่าจะต้องรอถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นอย่างเร็ว หรือในประเทศไทยยังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ (แต่ไม่เก็บภาษีสรรพาสามิตในลักษณะสินค้าฟุ่มเฟือย)

ประเด็นภาษีผ้าอนามัยมีการพูดถึงกันเฉพาะใน Social Media เท่านั้น ยังไม่มีหน่วยงานราชการหรือรัฐบาลพูดถึงประเด็นการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

 

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)