นโยบายก้าวไกล 100 วันแรกหลังตั้งรัฐบาล มีอะไรบ้าง?

ทั่วไป

นโยบายก้าวไกล 100 วันแรกหลังตั้งรัฐบาล หลังพรรคก้าวไกลมีโอกาสจะได้เป็นพรรคอันดับ 1 ในการมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล มี 15 นโยบายเร่งด่วน สำหรับ 100 วันแรกอย่างไรบ้าง

15 นโยบายก้าวไกล สำหรับ 100 วันแรก

1. ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปัญหา

ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทย เพราะมีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากแต่ออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารและระบอบประยุทธ์ อีกทั้งยังถูกเขียนโดยคนไม่กี่คนที่ คสช. แต่งตั้งอันเป็นผลให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 มีการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่ยึดโยงกับ คสช. และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ
นอกจากนั้นแล้วกระบวนการประชามติในปี 2559 ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตย เพราะไม่ได้เปิดให้ทั้งสองฝ่ายรณรงค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน มีคำถามพ่วงที่กำกวมและชี้นำ และเกิดขึ้นในสภาวะที่ประชาชนถูกบีบว่าหากไม่รับร่าง คณะรัฐประหารจะอยู่ในอำนาจต่อและจะไม่มีการเลือกตั้ง

ข้อเสนอ

จัดให้มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ภายใน 100 วันแรก ของรัฐบาลก้าวไกล

2. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้

ปัญหา

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 90 ปีที่ผ่านมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ทหารและกองทัพได้เข้ามาแทรกแซงและทำลายพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด ทั้งจากการแทรกแซงที่โจ่งแจ้งที่สุดของกองทัพอย่างการทำรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจที่ตามมา

อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทหารและกองทัพยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองผ่านโครงสร้างรัฐที่จัดวางอำนาจของกองทัพให้อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนในหลายกระบวนการตัดสินใจ ทั้งในเชิงความความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตลอดจนในมิติของธุรกิจการเมือง หรือแม้กระทั่งความเป็นอำนาจนิยมของระบบทหารไทยซึ่งส่งผลลบต่อประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้นกองทัพถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่มีการใช้งบประมาณสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของภาครัฐไทยในแต่ละปี โดยงบประมาณกองทัพที่ผ่านมาเคยขึ้นไปสูงที่สุดที่ 227,000 ล้านบาทใน ปี 2562 ดังนั้นการลดขนาดกองทัพ และปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้งบประมาณที่สิ้นเปลืองดังกล่าวถูกเปลี่ยนถ่ายสู่สวัสดิการและประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอ

ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง

3. ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์

ปัญหา

ผู้บริหารจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นกลไกที่จำเป็นให้การพัฒนาพื้นที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด และทำให้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อผลงานในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
แม้ประเทศไทยเปิดทางให้ประชาชนเลือกผู้บริหารท้องถิ่น (เช่น นายก อบจ. / นายก อบต. / นายกเทศมนตรี) แต่ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ยังคงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถแสดงบทบาทได้เต็มที่และหลายครั้งถูกควบคุมสั่งการหรือแทรกแซงจากผู้ว่าฯแต่งตั้ง จนกระทบต่อการทำงานเพื่อสนองความต้องการของประชาชน

หากราชการส่วนภูมิภาค (นำโดย ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง) ยังคงมีอำนาจเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นำโดย นายกฯ อบจ.) การบริหารจังหวัดจะไม่ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอ

  • จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น
  • หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการส่วนภูมิภาคและฝ่ายท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) โดยไม่มีตำแหน่งใดที่หาย และไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ เดิมที่ทำแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯแต่งตั้ง-อธิบดีกรม-ปลัดกระทรวง เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯแต่งตั้ง-อธิบดีกรม-ปลัดกระทรวง ที่ถูกแต่งตั้งโดยราชการส่วนกลาง ไปเป็นรูปแบบใหม่ที่มีการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกจังหวัด) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่

4. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น

ปัญหา

ท้องถิ่นคือหน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ทุกปัญหา ประชาชนจะคิดถึงท้องถิ่นเป็นหน่วยงานแรก และ ทุกท้องถิ่นมีทั้งแรงจูงใจและแรงกดดัน ในการแก้ปัญหาและพัฒนาบริการ จากประชาชนในพื้นที่โดยตรงเพราะประชาชนเลือกมา ดังนั้นท้องถิ่นจึงควรเป็นหน่วยงานหลักในการทำบริการสาธารณะให้ประชาชน ท้องถิ่นจึงควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่

แต่ที่ผ่านมามีอุปสรรค 2 ประการสำคัญ ที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดูแลประชาชนหรือพัฒนาพื้นที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

  1. กฎหมายเขียนถึงอำนาจท้องถิ่นแบบ “positive list” ที่ระบุเป็นข้อๆ ว่าท้องถิ่นมีอำนาจในด้านใดบ้าง – เมื่อมีภารกิจใดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ไม่มีความชัดเจนว่าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ ท้องถิ่นจึงอาจลังเลที่จะทำภารกิจนั้น เพราะกังวลว่าอาจถูกสอบสวนหรือชี้มูลเอาผิด
  2. กฎหมายให้อำนาจทับซ้อนระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลาง – ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ที่ให้อำนาจหน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ซ้ำซ้อนกับส่วนท้องถิ่น ทำให้บางครั้งเกิดความสับสนว่าภารกิจดังกล่าว ใครควรเป็นคนทำ โดยในกลายกรณี องค์กรตรวจสอบ เช่น สตง. มักตีความ “ไม่เป็นคุณ” กับท้องถิ่น และให้เป็นอำนาจส่วนกลางเป็นหลัก (เช่น การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ที่น่าจะเข้าข่ายเป็นอำนาจของท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายให้อำนาจกรมปศุสัตว์ด้วย)

ข้อเสนอ

  • ยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน
  • ยกเลิกกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่จำกัดอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่จำเป็นต่อการบริหารราชการท้องถิ่น เช่น การใช้จ่ายประมาณของท้องถิ่น การสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น การลาของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น การเห็นชอบข้อบัญญัติท้องถิ่น

5. ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง

ปัญหา

สถานการณ์การทุจริตของไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทย ประจำปี 65 ไทยในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยปัญหาสำคัญของการทุจริตภาครัฐของไทย คือ การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อผ่านใบอนุญาตต่าง ๆ ให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ที่ประชาชนยังเข้าถึงได้ยาก และระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ ปัญหาการทุจริตเหล่านี้ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องเจอกับต้นทุนแฝงจากการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ปัญหาการทุจริตยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศต่อระบบราชการของไทย

นอกจากนี้องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตอย่าง ปปช. ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ทำให้การเอาผิดผู้กระทำผิดประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างล่าช้าและเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจทางการเมือง อีกทั้งประชาชนก็ยากที่จะตรวจสอบและเอาผิดกับ ปปช. ได้

ข้อเสนอ

ตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ใช้เพื่อโฆษณาตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี อธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงาน ที่ไม่ได้ควักเงินตัวเองมาทำโครงการ

6. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

ปัญหา

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน แต่ปัจจุบัน นักเรียนกลับเผชิญกับหลายปัจจัยในโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยใน 3 มิติ ได้แก่:

  1. ความปลอดภัยทางร่างกาย : ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ (เช่น อาคารเรียนชำรุด ไฟดูด น้ำท่วม) และปัญหาสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำไม่สะอาด)
  2. ความปลอดภัยทางสภาพจิตใจ : ทั้งในเรื่องของความเครียดจากภาระการเรียนที่หนัก และภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีส่วนทำให้การฆ่าตัวตายได้กลายมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย
  3. ความปลอดภัยจากอำนาจนิยม : ทั้งในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิโดยบุคลากรในสถานศึกษา (เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ) รวมถึงการโดนกลั่นแกล้ง (bullying) จากทั้งครูและนักเรียนด้วยกัน

ข้อเสนอ

  • ออกข้อกำหนด “กฎโรงเรียนต้องห้าม” เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ และการบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน)
  • อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก

7. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

ปัญหา

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน แต่ปัจจุบัน นักเรียนกลับเผชิญกับหลายปัจจัยในโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยใน 3 มิติ ได้แก่:

  1. ความปลอดภัยทางร่างกาย : ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ (เช่น อาคารเรียนชำรุด ไฟดูด น้ำท่วม) และปัญหาสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำไม่สะอาด)
  2. ความปลอดภัยทางสภาพจิตใจ : ทั้งในเรื่องของความเครียดจากภาระการเรียนที่หนัก และภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีส่วนทำให้การฆ่าตัวตายได้กลายมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย
  3. ความปลอดภัยจากอำนาจนิยม : ทั้งในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิโดยบุคลากรในสถานศึกษา (เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ) รวมถึงการโดนกลั่นแกล้ง (bullying) จากทั้งครูและนักเรียนด้วยกัน

ข้อเสนอ

  1. พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น
  2. แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่

8. เลิกให้ครูนอนเวร

ปัญหา

ที่ผ่านมาครูไทยไม่สามารถให้เวลาที่มากพอกับห้องเรียนและนักเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย รวมถึงภาระงานของครูมหาศาล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาไทย

โดยใน 1 ปี ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันในปีการศึกษา หรือคิดเป็นกว่า 42% ที่ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การประเมิน/อบรม การเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการถูกกดทับด้วยอำนาจภายในโรงเรียน โดนผู้บริหารใช้งานนอกเหนือหน้าที่ จนคุณครูไม่สามารถทุ่มเทไปที่การสอนหรือการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินที่ไม่ยึดโยงเพียงพอกับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน และระบบการบริหารและพัฒนาบุคลากรครูที่ยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการพัฒนาทางการศึกษาในระยะยาว

ข้อเสนอ

ยกเลิกการให้ครูนอนเวรเฝ้าโรงเรียน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

9. ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก

ปัญหา

ที่ผ่านมาครูไทยไม่สามารถให้เวลาที่มากพอกับห้องเรียนและนักเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย รวมถึงภาระงานของครูมหาศาล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาไทย

โดยใน 1 ปี ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันในปีการศึกษา หรือคิดเป็นกว่า 42% ที่ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การประเมิน/อบรม การเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการถูกกดทับด้วยอำนาจภายในโรงเรียน โดนผู้บริหารใช้งานนอกเหนือหน้าที่ จนคุณครูไม่สามารถทุ่มเทไปที่การสอนหรือการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินที่ไม่ยึดโยงเพียงพอกับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน และระบบการบริหารและพัฒนาบุคลากรครูที่ยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการพัฒนาทางการศึกษาในระยะยาว

ข้อเสนอ

ยกเลิกพิธีรีตองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียน (เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

10. เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที

ปัญหา

ปัจจุบัน เกษตรกรจำนวนมากขาดเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดในที่ดินที่ตนเองใช้ชีวิตและทำมาหากินมาหลายรุ่น โดยกว่า 1 ล้านคน กำลังประสบปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับรัฐ ที่บางกรณียืดเยื้อมาหลายสิบปี และถูกซ้ำเติมโดยนโยบายของรัฐที่ผ่านมา (ป่าอนุรักษ์ 300,000-400,000 ราย / ป่าสงวนแห่งชาติ 400,000-500,000 ราย / ที่ราชพัสดุ 100,000-200,000 ราย / ที่ดิน ส.ป.ก. 200,000-300,000 ราย)

นอกจากจะขาดความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การขาดเอกสารสิทธิ์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และ ไม่มีทางเลือกในการโอนสิทธิหรือขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า

แม้เกษตรกรที่มีที่ดิน ส.ป.ก. ก็ยังไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพราะเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิ์ที่มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนมือการครอบครอง โดยห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นแต่การถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาท ที่ยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้นกับ ธกส.) และการเปลี่ยนพื้นที่ทำกินและเปลี่ยนอาชีพของพี่น้องเกษตรกร – ในทางปฏิบัติ ข้อจำกัดดังกล่าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดิน ส.ป.ก. เปลี่ยนมือ กลับกลายเป็นกลไกที่เปิดช่องให้นายทุนบางรายเข้ามารวบรวมที่ดิน ส.ป.ก. จากเกษตรกรได้ในราคาถูกนอกกระบวนการกฎหมาย เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกในการขายที่ดินในราคาที่เหมาะสมผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนและซ้ำเติมถึงปัญหาในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน โดย 80% ของที่ดินทั้งหมดกระจุกอยู่ที่คนที่รวยที่สุด 5% ในขณะที่ 75% ของคนไทย ไม่มีที่ดินของตนเอง
หากต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การรับประกันความมั่นคงในที่ดินทำกิน จึงเป็นกระดุมเม็ดแรกและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

ข้อเสนอ

เร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที

11. หยุดบังคับติดตั้งระบบ AIS

ปัญหา

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา การบังคับใช้ พรก. ประมง และการดำเนินการนโยบาย IUU หรือการจัดการประมงที่ผิดกฎหมายตามเกณฑ์ของ EU ที่เป็นไปเร่งรีบ ไม่มีระยะเวลาให้เปลี่ยนผ่าน และใช้โทษทางกฎหมายที่รุนแรง สรา้งความเดือดร้อนให้ชาวประมงเป็นอย่างมาก โดยกระทบต่อเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำไทยกว่า 4,000 ลำที่ต้องจอดทิ้ง คิดเป็นทรัพย์สินที่เสียหายกว่า 36,000 ล้านบาท และสูญเสียโอกาสในการจับสัตว์น้ำนอกน่านน้ำกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท

แม้หลักเกณฑ์หลายอย่างจะได้รับการผ่อนปรนลงบ้าง แต่ปัญหาความซ้ำซ้อนของเอกสารก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าการต่อทะเบียนเรือ และใบอนุญาตประมงที่ต้องทำแยกหน่วยงานกัน หรือการขอเอกสารแรงงานต่างด้าวที่หากขอใบชมพูมาแล้ว ก็ต้องมาทำ Seabook เพิ่มกับกรมประมง ซึ่งการทำเอกสารที่ซ้ำซ้อนระหว่างกรมประมงและหน่วยงานอื่น ๆ เป็นการสร้างภาระแก่ชาวประมงอย่าวไม่จำเป็น

กฎหมาย พรก.ประมง ที่มีปัญหากว่า 8 ปี ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ทั้งที่มีบทกำหนดโทษที่รุนแรง เช่น ปรับสูงสุดถึง 30 ล้านบาทแ ละเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจสูงมาก โดยความผิดเพียงครั้งเดียวอาจถูกยกเลิกใบอนุญาตการทำประมงเรือทุกลำทั้งหมดที่มีได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นความผิดจากไต่ก๋งเรือลำเดียว

นอกจากนี้การชดเชยก็เป็นไปล่าช้า รัฐบาลจะรับปากชดเชยการซื้อเรือคืนประมาณ 3,000 ลำ จากชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจาก IUU ตั้งแต่ปี 2558 แต่ปัจจุบันยังคงซื้อได้เพียง 364 ลำ เท่านั้น ความล่าช้าทำให้ชาวประมงไม่ได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม และสูญเสียโอกาสในการปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น

นอกจากเรื่องในอดีตที่ไม่ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันก็ยังคงมีนโยบายที่เพิ่มภาระให้ชาวประมง เช่น นโยบายจากกรมสรรพสามิตที่พยายามให้ติดเครื่องติดตามเรือชื่อ AIS ให้เรือประมงพาณิชย์ทั้งที่เรือประมงพาณิชย์มีระบบติดตามจากกรมประมงอยู่แล้ว ซึ่งหากทรัพย์สินนี้เสียหาย เรือประมงต้องรับผิดชอบ แม้ศาลปกครองจะให้ยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว แต่กรมสรรพสามิตยังอุทธรณ์ต่อ การพิจารณาจึงยังไม่เสร็จสิ้น

ข้อเสนอ

ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชน์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว

12. “ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน

ปัญหา

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาพลังงานสูงเพราะนโยบายของรัฐบาลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติสัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับทุนใหญ่พลังงานเป็นจำนวนมาก สุดท้ายกลายเป็นประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไปแล้วถึง 60%

สิ้นปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทยมี 13 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว 7 โรง แต่กลายเป็นว่าประชาชนยังต้องจ่ายเงินค่าบริการให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยเหล่านี้ เพราะรัฐบาลไปทำสัญญาประกันกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงาน สุดท้าย ประชาชนจึงต้องแบกภาระค่าความพร้อมจ่าย หรือค่ามีโรงไฟฟ้าเกินความต้องการนั่นเอง

ข้อเสนอ

ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน Energy Pool ด้วย และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น)

เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

13. “หลังคาสร้างรายได้” เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน

ปัญหา

ปัจจุบัน หลายๆ ประเทศตั้งเป้าและเอาจริงเอาจังกับการเดินหน้ามุ่งสู่สังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission แต่การตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลไทยในปี 2030 ไว้ที่ 333 ล้านตัน CO2 ในปี 2030 เท่ากับว่า จริงๆ แล้วการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 10% เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 2018 (373 ล้านตัน CO2 ในปี 2018) เท่านั้น

พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายกว่านั้น โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ที่ 300 ล้านตัน CO2 หรือเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 19.5% เมื่อเทียบกับการปล่อยในปี 2018 แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่รัฐบาลไทยเสนอ

การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 73 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ จะมาจากการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วขึ้น ตามมาด้วยการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะให้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการจัดการของเสีย ตามลำดับ โดยการดำเนินการทั้งหมดจะต้องยึดหลักการที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวอย่างกว้างขวางที่สุด และร่วมได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงานนี้อย่างเป็นรูปธรรม หรือที่เรียกว่า Just Energy Transition การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานที่เป็นธรรม

ข้อเสนอ

  • ปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด
  • เพิ่มแต้มต่อให้ประชาชนผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยการสนับสนุนให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน (จากระบบ net metering) จากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ หากยังไม่มีตลาดที่ 2.2 บาท/หน่วย

14. ลดรายจ่าย SME: หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%

ปัญหา

SMEs ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะโดยธรรมชาติยิ่งระบบเศรษฐกิจไหนมี SMEs จำนวนมาก ย่อมหมายถึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง และการแข่งขันนี้จะทำให้เกิด นวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกสินค้า และบริการที่ดีที่สุด และเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่

นอกจากนี้ SMEs ยังสัมพันธ์กับชีวิตของคนจำนวนมากในประเทศ โดยผู้ประกอบการ SME มีประมาณ 3 ล้านคน และจ้างงานสูงถึง 12.7 ล้านคน ซึ่งหากนับครัวเรือนที่เกี่ยวข้องก็หมายความว่า SME เกี่ยวข้องชีวิตของกว่าครึ่งของประเทศ ดังนั้นหาก SMEs เติบโต แปลว่าค่าตอบแทน โบนัส ค่าล่วงเวลาของลูกจ้างก็ต้องสูงขึ้น นั้นหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากก็ย่อมดีขึ้นเช่นกัน

แต่ปัจจุบัน SMEs ไทย มีสัดส่วน GDP เพียงแค่ 34 % ของประเทศไทยเท่านั้น และธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยธุรกิจระดับเล็กที่ยังแข่งขันไม่ได้ โดยมีธุรกิจ SME จำนวนเพียง 1.4 % เท่านั้นที่เป็น SMEs ขนาดกลางได้ แต่ต้องเจอต้นทุนในการทำธุรกิจ เช่น อัตราภาษีนิติบุคคลที่เท่ากับธุรกิจขนาดใหญ่

นโยบาย SMEs จึงจำเป็นมุ่งยกระดับ SMEs และช่วยแต้มต่อให้สามารถแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ เพราะการพัฒนา SMEs ไม่ใช่แค่เพียงการยกระดับภาคธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนจำนวนมากให้ดีขึ้น

ข้อเสนอ

เปิดให้ SMEs หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีบุคคลได้เพิ่มเป็น 90% (จากเดิม 60%)

15. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน

ปัญหา

SMEs ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะโดยธรรมชาติยิ่งระบบเศรษฐกิจไหนมี SMEs จำนวนมาก ย่อมหมายถึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง และการแข่งขันนี้จะทำให้เกิด นวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกสินค้า และบริการที่ดีที่สุด และเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่

นอกจากนี้ SMEs ยังสัมพันธ์กับชีวิตของคนจำนวนมากในประเทศ โดยผู้ประกอบการ SME มีประมาณ 3 ล้านคน และจ้างงานสูงถึง 12.7 ล้านคน ซึ่งหากนับครัวเรือนที่เกี่ยวข้องก็หมายความว่า SME เกี่ยวข้องชีวิตของกว่าครึ่งของประเทศ ดังนั้นหาก SMEs เติบโต แปลว่าค่าตอบแทน โบนัส ค่าล่วงเวลาของลูกจ้างก็ต้องสูงขึ้น นั้นหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากก็ย่อมดีขึ้นเช่นกัน

แต่ปัจจุบัน SMEs ไทย มีสัดส่วน GDP เพียงแค่ 34 % ของประเทศไทยเท่านั้น และธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยธุรกิจระดับเล็กที่ยังแข่งขันไม่ได้ โดยมีธุรกิจ SME จำนวนเพียง 1.4 % เท่านั้นที่เป็น SMEs ขนาดกลางได้ แต่ต้องเจอต้นทุนในการทำธุรกิจ เช่น อัตราภาษีนิติบุคคลที่เท่ากับธุรกิจขนาดใหญ่

นโยบาย SMEs จึงจำเป็นมุ่งยกระดับ SMEs และช่วยแต้มต่อให้สามารถแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ เพราะการพัฒนา SMEs ไม่ใช่แค่เพียงการยกระดับภาคธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนจำนวนมากให้ดีขึ้น

ข้อเสนอ

  • เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล
  • สำหรับคนซื้อ หรือ ประชาชนทั่วไป: เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และ จำนวน 10 ล้านคน/เดือน)
  • เพิ่มโอกาสลุ้นหวยให้ SMEs โดยการนำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้ด้วย
    สำหรับคนขาย หรือ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ: เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)