คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ มีใครบ้าง?

ทั่วไป

นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” แก้ปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าแพง น้ำมันแพง ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

รายชื่อ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ทั้ง 27 คน

  1. นายกรัฐมตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) – ประธานกรรมการ
  2. รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) – รองประธานกรรมการ (1)
  3. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) – รองประธานกรรมการ (2)
  4. รองนายกรัฐมนตรี(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) – รองประธานกรรมการ (3)
  5. รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) – รองประธานกรรมการ (4)
  6. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) – รองประธานกรรมการ (5)
  7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) – กรรมการ
  8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) – กรรมการ
  9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) – กรรมการ
  10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) – กรรมการ
  11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) – กรรมการ
  12. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายธานี ทองภักดี) – กรรมการ
  13. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายทองเปลว กองจันทร์) – กรรมการ
  14. ปลัดกระทรวงคมนาคม (นายชยธรรม์ พรหมศร) – กรรมการ
  15. ปลัดกระทรวงพลังงาน (นายกุลิศ สมบัติศิริ) – กรรมการ
  16. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) – กรรมการ
  17. ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ) – กรรมการ
  18. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์) – กรรมการ
  19. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม) – กรรมการ
  20. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ) – กรรมการ
  21. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายดนุชา พิชยนันท์) – กรรมการ
  22. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร) – กรรมการ
  23. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ) – กรรมการ
  24. ปลัดกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ) – กรรมการ และเลขานุการ
  25. รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายประทีป กีรติเรขา) – กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ (1)
  26. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย – กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ (2)
  27. ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย – กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ (3)

อำนาจและหน้าที่ของ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

  1. กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
  2. กำกับ ติดตาม และประเมินผลการคำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี
  3. กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไซหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง
  4. ข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่งนี้
  5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
  6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

นอกจากนี้ในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว ได้มีการสั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนี้ สำหรับการเบิกจ่ายคำเบี้ยประชุมและคำใช้ง่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2557 หรือตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง

สมช. เผยตั้ง คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ เตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าแพง น้ำมันแพง ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

19 กรกฎาคม 2565 – พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยถึง การแก้ไขปัญหาและการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดยสืบเนื่องจากการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสภาความมั่นคงและรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจที่ได้เชิญมาในวาระพิเศษเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ

ในที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การกดดันระหว่างคู่ขัดแย้งด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และการใช้นโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ของภูมิภาค และประเทศไทย ทั้งในปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ หรือแม้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งจะยุติลงเมื่อใดก็ตาม

สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาราคาพลังงานและการขาดแคลนพลังงานจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่ง ภาคธุรกิจ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น จนอาจกลายเป็นวิกฤติพลังงานและอาหาร

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงระบบการเงินการคลังของประเทศต่างๆ เป็นวงกว้างด้วย ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการและนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนมาเป็นลำดับ ประกอบกับการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างเต็มที่ แต่ยังคงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศให้น้อยที่สุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้จากการประชุมหารือกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อบริหารสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยบูรณาการการทำงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งภาคเอกชนและทุกภาคส่วน ให้สามารถแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถกำกับติดตามและเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เห็นชอบมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนแผนเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานและอาหาร ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นไปพิจารณาเพิ่มเติมให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และเป็นไปตามข้อสังเกตที่ได้จากที่ประชุมโดยเร่งด่วน

ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นรองประธาน รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ ส่วนคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นอนุกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

การทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่าง ๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันเพื่อเร่งรัดให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลด้วย นอกจากนี้จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้กำหนดรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามห้วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการดำเนินการด้วย

จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการฯ และ คณะอนุกรรมการฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน และประชาชนในทุกทางที่สามารถทำได้ เช่น การประหยัดพลังงาน หรือการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะมาตรการเพิ่มเติมแก่รัฐบาลเพื่อให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในมิติทางเศรษฐกิจโดยตรงและในมิติที่เกี่ยวข้อง เช่น สังคม ความมั่นคง และผลกระทบจากปัญหาโควิดที่ยังไม่ยุติ 

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือเรื่อง ราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก และรัฐบาลของทุกประเทศกำลังแก้ไขปัญหากันอย่างสุดความสามารถ รวมทั้งรัฐบาลไทยด้วย ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทย และเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทางหนึ่งที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้คือการประหยัดพลังงาน จะมีส่วนช่วยได้ทั้งภาพรวมของประเทศและตัวเราเองด้วย

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)