TAX Talks: ยื่นภาษียุคใหม่ ง่ายจริงหรือ?

ทั่วไป

ในวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา นอกจากทางกรมสรรพากรจะจัดงานแถลงข่าวเปิดก้าวใหม่ของกรมสรรพากรแล้ว ยังมีงานเสวนาในหัวข้อ ยื่นภาษียุคใหม่ ง่ายจริงหรือ? อีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thai Tech Startup, ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO, iTAX Inc. และ ดร.วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร โดยมี คุณมนต์ชัย วงศ์กิตติไกรวัล Business Editor จาก The Standard เป็นผู้ดำเนินรายการ และแน่นอนว่า iTAX รวบรวมทุกคำตอบมาให้แล้ว

TAX Talks : ยื่นภาษียุคใหม่ ง่ายจริงหรือ?

Q: ในตอนนี้ ประชาชนยังขาดความรู้เรื่องการเสียภาษีอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร. ยุทธนา : ต้องยอมรับก่อนว่า การเสียภาษีเป็นเรื่องของกฎหมาย ดังนั้น จะบอกว่าไม่รู้กฎหมาย และจะไม่ทำหน้าที่เสียภาษีก็อาจจะยากอยู่ และเราก็ต้องยอมรับอีกข้อหนึ่งว่า เวลาที่เราพูดถึงเรื่องภาษี คนจำนวนน้อยมาก ที่จะมองว่าเรื่องภาษีเป็นเรื่องง่าย

เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่มีความตั้งใจที่ดี ตั้งใจจะทำหน้าที่ผู้เสียภาษีให้ถูกต้อง และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ จากการได้สัมภาษณ์ลูกค้าหลายๆ คนก็คือ ส่วนใหญ่จะติดอยู่เรื่องเดียว คือ “ทำไม่เป็น” ทีนี้การจะทำให้เป็นต้องทำอย่างไรบ้าง ก็จะมีวิธีอยู่สองทางที่ทำง่ายๆ คือ

1. เปิดประมวลรัษฎากร ค้นหาข้อมูลให้เรียบร้อย จากนั้นก็มาทำหน้าที่ผู้เสียภาษีอีกรอบหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้อาจจะง่ายสำหรับบางคน แต่อาจจะไม่ง่ายสำหรับใครหลายๆ คน

2. ทำตามมีตามเกิด เดี๋ยวมีปัญหาค่อยว่ากัน ซึ่งอาจจะมีเบี้ยปรับเงินเพิ่มเกิดขึ้นในภายหลังได้

ซึ่งสิ่งที่ iTAX อยากให้เกิดขึ้นคือ อยากให้ผู้เสียภาษีจัดการภาษีให้ถูกต้อง และได้รักษาสิทธิประโยชน์ของผู้เสียภาษีอย่างเต็มที่ 100%

Q: ที่ผ่านมามีกระบวนการของสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับภาษี อย่างไร? และเจอปัญหาอะไรมาบ้าง?

ดร. พณชิต : โลกเรากำลังแข่งขันในยุคดิจิตอล และ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนชีวิตของลูกค้าให้ดีขึ้น และส่วนใหญ่กลุ่ม Startup เกี่ยวข้องกับภาษีไม่มากก็น้อยกันทุกคน เช่น ทุกครั้งที่เราซื้อของ จ่ายเงิน ขายของออนไลน์ มันต้องมีภาษี หรือแม้แต่กระทั่งบริหารซอฟแวร์ บริหารจัดการ หอพัก ร้านยา ก็ต้องมีใบเสร็จ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับภาษี ชีวิตดิจิตอลในการทำธุรกิจในชีวิตประจำวัน

และการที่ทุกอย่างขึ้นไปอยู่บนโลกดิจิตอลหมด ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการซื้อขาย และการทำกิจกรรมทุกวันของเรา ซึ่งที่ตามมาก็คือ เงิน หรือ Supply chain ที่มันต้องขึ้นไปอยู่บนโลกดิจิตอล มันถึงจะทำให้ธุรกิจดีขึ้น การแข่งขันดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง มีโอกาสในการขยายเพื่อให้ต้นทุนต่ำลงได้ และสตาร์ทอัพเรามุ่งเน้นที่จะมาช่วยตรงนี้

เพราะฉะนั้น ผมมองว่า สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ของเราที่เป็นดิจิตอล มุ่งเน้นที่จะแปลงบุคลากร บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ขึ้นไปอยู่ในโลกการแข่งขันดิจิตอล ทั้งในแง่มุมของข้อมูล (DATA) และการเงิน

และเท่าที่ผมคุยกับสตาร์ทอัพทุกเจ้า ไม่มีใครไม่มีปัญหาในเรื่องของภาษีกับลูกค้า แค่ร้านอาหารก็ต้องถามแล้วว่า ออกใบเสร็จยังไง ทุกอย่างผมว่ามันเกี่ยวข้องกับภาษีไม่มากก็น้อยอยู่ในธุรกิจของสตาร์ทอัพอยู่แล้ว

Q: คนที่มาใช้บริการของ iTAX และบอกว่าติดปัญหาส่วนใหญ่คือ ไม่รู้ว่าจะทำยังไง

ผศ.ดร. ยุทธนา : ผู้เสียภาษีหลายๆ คน มักจะเริ่มต้นไม่ถูกว่าต้องเริ่มต้นยังไง ซึ่งพอเรารู้ว่า คนเหล่านี้ทำภาษีไม่ถูกจริงๆ iTAX จึงแก้ปัญหาด้วยการทำให้ข้อกฎหมายเป็นคำถาม คำตอบ อย่างง่าย เหมือนนั่งคุยกัน เช่น

  • คำถามว่า เกิดวันที่เท่าไหร่ เพื่อเช็กว่ามีสิทธิประโยชน์พิเศษอะไรบ้าง?
  • เวลาจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่ ระบบของ iTAX ก็จะถามว่า คุณพ่อคุณแม่เกิดวันที่เท่าไหร่? ถึงเกณฑ์ที่สามารถลดหย่อนได้หรือยัง? พ่อแม่มีรายได้หรือไม่?

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ฟีดแบคที่เราได้รับมา User ส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ามีการใช้งานที่ง่ายขึ้น จากเดิมที่เขารู้สึกว่าเรื่องภาษีที่เคยยากมากๆ ก็ง่ายขึ้น เราเคยเจอขนาดที่ว่า อันนี้จริงหรือยัง? อันนี้คือใช้ได้แล้วหรือยัง? เพราะเขารู้สึกว่า มันเสร็จแล้วหรอ?

อีกกลุ่มนึงคือ ผู้เสียภาษีที่มีความรู้เรื่องภาษีพอประมาณ และเนื่องจากกฎหมายภาษีมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้ค่าลดหย่อนใหม่ๆ อาจจะมีอัพเดทซึ่งปกติอาจจะใช้ Excel ในการคำนวณภาษี

แต่พอมี iTAX Pro ทำให้เขาสามารถวางแผนภาษีด้วยตัวเองง่ายๆ ว่า ตัวผู้ใช้งานยังมีสิทธิลดหย่อนภาษีบางอย่างที่ยังไม่ได้ถูกใช้ หรือสามารถใช้เพิ่มเติมได้ (กฎหมายอนุญาตให้ใช้)

ซึ่งมันก็เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่ภาครัฐต้องการการสนับสนุนในส่วนนั้นๆ อยู่แล้ว เช่น ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง การซื้อ LTF/RMF ลดหย่อนภาษี ซึ่งเพดานสิทธิ์ของผู้ใช้ เช่น เพดาน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เราก็เตรียมให้ user หมด

ดังนั้น ผู้ใช้งานจะไม่ต้องมานั่งปวดหัวเลยว่า แล้วเวลากรอกฟอร์มจะต้องกรอกยังไง? เวลาจะยื่นภาษีต้องยื่นยังไง? ดังนั้น ทุกอย่างก็เสร็จครบ จบได้ในแอป iTAX Pro ที่เดียว (โหลดฟรีทั้งระบบ IOS และ Android)

Q: ที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีการแก้ปัญหา หรือเติมเต็มเพื่อให้ผู้เสียภาษียื่นภาษีง่ายขึ้นอย่างไรบ้าง?

ดร.วินิจ : ส่วนตัวคิดว่า ปัญหาเรื่องความยากหรือความซับซ้อนของภาษีเป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีทุกคนยอมรับกัน กรมสรรพากรก็พยายามแก้ไขมาโดยตลอด เรามีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น E-Filing ที่สรรพากรทำมา 10 กว่าปี

ก็ต้องเรียนตามตรงว่า เรื่องความยากของภาษีเกิดจากความยากของนโยบาย เนื่องจากภาษีถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือทางนโยบายให้ตรงกลุ่ม ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายอยู่ตลอด ซึ่งแน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีไม่ได้ก่อให้เกิดภาระของผู้เสียภาษีอย่างเดียว แต่เป็นภาระของกรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเช่นกัน  

นี่จึงเป็นเหตุผลที่กรมสรรพากรเปิดตัว PIT Digital Service ให้ทุกคน ซึ่งหลายบริการเป็นบริการที่สรรพากรทำมานานแล้ว และหลายบริการเป็นบริการที่กรมสรรพากรจัดทำขึ้นมาใหม่ วันนี้จึงเป็นการเปิดตัวว่า ทุกคนที่เข้าสู่ระบบภาษีก็จะได้เจอกับบริการเหล่านี้ ไม่ว่าท่านจะใช้บริการกรมสรรพากรผ่านช่องทางออนไลน์ หรือติดต่อด้วยตัวเองที่กรมสรรพากรพื้นที่ก็ตาม

และปัญหาที่หลายๆ คนเจอเวลาเดินเข้าไปที่กรมสรรพากรก็คือ เจ้าหน้าที่มักจะดำเนินการทำตามกฎหมาย เช่น การสอบถามว่า ท่านมีรายได้เท่าไหร่ มีภรรยากี่คน ดังนั้น วันนี้หากท่านไปติดต่อที่กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่จะปรับเปลี่ยนการให้บริการเป็นถามเรื่องสิทธิประโยชน์ก่อน ก็นับว่าเป็นมาตราฐานของการบริการใหม่ ที่กรมสรรพากรปรับตัวให้เข้ากับผู้เสียภาษี

Q: วันนี้เราอยู่ในยุคดิจิตอล และดูเหมือนว่ากรมสรรพากรพยายามยกระดับบริการสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้น ดร.วินิจมองเรื่องนี้ยังไงบ้าง?

ดร.วินิจ : ผมว่ากรมสรรพากรพยายามตามให้ทันกับยุคสมัยมากกว่า ผมต้องยอมรับว่าวันนี้ทุกๆ คนใช้ชีวิตเปลี่ยนไป หลายคนใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าการดูทีวี ไม่มีใครอ่านหนังสือพิมพ์

ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นแหล่งข้อมูลแหล่งความรู้ต่างๆ การโอนเงิน สรรพากรจึงพยายามตามความต้องการของผู้เสียภาษีให้ทัน ตามนโยบายของอธิบดีกรมสรรพากรที่ยึด ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น

ในส่วนงานดิจิตอล ก็ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้การพัฒนาของกรมสรรพากรเองก็มีข้อจำกัด ให้คนจากกรมสรรพากรที่เป็นข้าราชการ มีรายได้ส่วนใหญ่จากเงินเดือน คุ้นเคยที่สุดกับการใช้ สิทธิลดหย่อนค่าผ่อนบ้านด้วยดอกเบี้ย สิทธิลดหย่อนอื่นๆ ไม่รู้เลย เพราะรายได้ส่วนอื่นไม่ค่อยมีกัน จะให้ทุกคนมารู้เรื่องเงินปันผล เรื่องอื่นๆ ซึ่งเราเองไม่ค่อยคุ้นเคย

เราก็เชื่อว่า ให้เอกชนที่มีความรู้ความเข้าใจผู้เสียภาษีช่วยเรา เราเชื่อว่าสตาร์ทอัพหลายๆ กลุ่มเนี่ย พยายามแก้ความต้องการเสียภาษีได้มากกว่า วันนี้กรมสรรพากรจึงมีนโยบาย Open API เปิดให้ทุกคนมาร่วมกัน เหมือนเป็นหุ้นส่วนที่มาช่วยกันพัฒนาเพื่อให้ผู้เสียภาษีใช้งานง่ายขึ้นไปพร้อมๆ กัน

Q:  มองเรื่องไอเดีย Open API ว่าเป็นยังไงบ้าง?

ดร. พณชิต : ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ประเทศเรากำลังพูดถึงคือ การเปิดเผยข้อมูล อยากให้มองแบบนี้ สมมุติว่าในตลาด สตาร์ทอัพ ผูกกับแบงค์ ทุกอย่างเป็นดิจิตอลหมด และสุดท้ายถ้ามันเกี่ยวข้องกับภาครัฐ จะต้องทำทุกอย่างเป็นกระดาษ ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องใช้บัตรประชาชนก็ตาม

และทุกๆ การเชื่อมต่อที่ต่างกันมันมีต้นทุน ซึ่งต้นทุนทางดิจิตอลมีราคาค่อนข้างถูก แต่ต้นทุนทางกายภาพมันสูง การให้หน่วยงานทั้งหมดไม่ว่าจะรัฐ เอกชน แบงค์ ทำงานบนดิจิตอล จะทำให้ต้นทุนของประเทศลดลง

ทำให้เอกชน รัฐ และผู้ที่อยู่ในระบบทั้งหมดสามารถแข่งขันกันได้สูงขึ้น และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย นี่จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยยกระดับ ห่วงโซ่อุปทานด้านการเงินของประเทศ

Q:  ในฐานะนายกสมาคม Thailand Tech Startup มีข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบทางภาครัฐหรือระบบที่เกี่ยวข้องบ้างหรือไม่?

ดร. พณชิต : ผมว่าหัวใจของดิจิตอล เทคโนโลยีกับการ Apply เป็นส่วนหนึ่ง แต่หลักคิดของดิจิตอลเนี่ย ทุกคนที่ทำบริษัทสตาร์ทอัพหรือแม้กระทั่งแบงค์ หรือบริษัทที่กำลังหมุนตัวเองไปสู่ระบบดิจิตอลเนี่ย สำคัญคือความคิด จิตใจ และตัวองค์กรที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันปรับขึ้นไป ทั้งรัฐและเอกชน ผมมองว่าดิจิตอลเนี่ย สิ่งที่มันนำมาคือ ความโปร่งใส

ความโปร่งใสมันไม่ควรจะเป็นความโปร่งใสที่รัฐใช้บี้ประชาชน หรือประชาชนใช้หนีรัฐ แต่ควรจะเป็นเรื่องของการให้ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในรัฐและเอกชน อีกอย่างหนึ่ง ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของประเทศ ที่เอกชนและรัฐต้องใช้ดิจิตอลให้เป็นประโยชน์ เพิ่มความไว้วางใจกัน และเดินไปด้วยกัน ผมว่าข้อมูลตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ

Q: ความพร้อมโครงการ Open API ของสรรพากรและส่วนอื่นๆ มีมากแค่ไหน?

ดร.วินิจ : สิ่งที่กรมสรรพากรพยายามทำ หรือความสะดวก มันมาด้วยความโปร่งใสของระบบดิจิตอล สรรพากรจึงพยายามเชื่อมโยงข้อมูล และวันนี้เราเชื่อมโยงข้อมูลด้วยความสมัครใจของผู้เสียภาษี เพราะหลายๆ อย่างเราไม่สามารถบังคับได้ เพราะผู้เสียภาษีที่มีความคุ้นเคยกับระบบดิจิตอลก็เลือกใช้

แต่ยังมีผู้เสียภาษีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยกับระบบดิจิตอล เพราะเราอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน และกฎหมายไม่สามารถบังคับให้ทุกคนใช้ระบบดิจิตอลได้ เพราะฉะนั้นการเชื่อมต่อข้อมูลจะค่อยเป็นค่อยไป

ระบบ Open API ถือเป็นทางลัด ที่จะช่วยให้ผู้เสียภาษีที่คุ้นเคยกับการใช้บริการซอฟต์แวร์เฮ้าส์ คุ้นเคยกับแอปพลิเคชันที่เคยใช้ สามารถใช้แอปพลิเคชันเดิมและเชื่อมต่อเข้ากรมสรรพากรโดยตรง ในขณะเดียวกันกรมสรรพากรก็พยายามทำการเชื่อมต่อข้อมูลมาเตรียมให้ผู้เสียภาษี

สิ่งที่กรมสรรพากรต้องการ คือ

ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารอีก สามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ My Tax Account กด OK ระบบจะแสดงข้อมูลทุกอย่าง และกดยืนยันอีกครั้งเพื่อทำการยื่นแบบแสดงภาษี แต่ทุกอย่าง ณ วันนี้จะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ 

และระบบ Open API ในอนาคต หากมีธนาคารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมโครงการ Open API กับกรมสรรพากร หากสมัครใจอยากให้ส่ง ข้อมูลการหักภาษี ไปให้ผู้จ่ายเงินได้ (นายจ้าง) เราอาจจะมีระบบที่ทำให้การหักภาษีพอดี สิ้นปีผู้เสียภาษีอาจจะไม่ต้องเรียกเงินคืนภาษี หรือไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มได้

แต่กว่าที่เราจะเดินทางไปถึงวันนั้น ที่อาจจะไกลพอสมควร เพราะมีเรื่องของกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพของผู้เสียภาษีที่จะเลือกใช้ระบบดิจิตอล และกรมสรรพากรหวังว่า ในอนาคตหากผู้เสียภาษีสมัครใจ กรมสรรพากรจะมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อทำให้ขั้นตอนการเสียภาษีทุกอย่างง่ายขึ้น

Q: iTAX มองว่ามีอะไรเป็นส่วนที่พัฒนามากยิ่งขึ้น และมีคำแนะนำที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้น?

ผศ.ดร. ยุทธนา : ในวันนี้หลายๆ เรื่องผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะมันเป็นภาพที่เมื่อ 6 ปีที่แล้วที่ผมฝันว่าจะได้เห็น และนโยบาย Open API ของกรมสรรพากรจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ที่วันนึงภาษีที่เคยเป็นภาระของเรามันหายไป ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องเสียภาษีอีกแล้ว เพราะเรายังต้องเสียภาษีอยู่แต่ภาระเรื่องการจัดการภาษีมันหายไป

ซึ่งเราต้องยอมรับว่า การที่เรามีภาระเรื่องการจัดการภาษีบางอย่าง มันไม่ใช่เรื่องการยื่นภาษีอย่างเดียว แต่มันมีต้นทุนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนด้านเวลาที่ต้องใช้ในการศึกษาหาข้อมูล จัดเตรียมเอกสาร และทุกครั้งที่เราเสียเวลาตรงนี้ไป มันไม่ได้ช่วยเพิ่ม GDP ให้ประเทศแม้แต่บาทเดียว ซึ่งหากขั้นตอนนี้ลดลง ทุกคนจะมีอิสระมากขึ้น และมีเวลาเหลือไปทำในสิ่งที่เราต้องการได้มากขึ้น

และเมื่อมีความโปร่งใสเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่ระบบมากขึ้น ผู้เสียภาษีทุกคนอาจจะเสียภาษีถูกลงคนละครึ่งก็ได้ เพราะมีคนมาช่วยเฉลี่ยค่าภาษี

ซึ่งถือเป็นภาพในอุดมคติที่ผมเองก็อยากเห็น และหากสิ่งนี้เกิดขึ้น ทีมงาน iTAX จะไปโฟกัสที่ การวางแผนภาษี หรือการรักษาสิทธิ์ประโยชน์ให้ผู้เสียภาษี และถือเป็นสิ่งดีสำหรับทุกคน และเชื่อว่าทั้ง iTAX และกรมสรรพากรสามารถจับมือร่วมงานกันต่อในอนาคตได้

Q: นอกจากร่วมมือกับทีม iTAX เป็นที่แรก โปรเจ็คในอนาคตของกรมสรรพากรมีอะไรอีกบ้าง?

ดร.วินิจ : การ Open API สรรพากรเปิดโอกาสให้เอกชนทุกรายที่มีมาตรฐานไม่ใช่เฉพาะ iTAX และไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ เฮ้าส์ และสถาบันการเงินที่จะร่วมส่งข้อมูลแบบแสดงรายการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ ทุกคนมีซอฟต์แวร์ในการจัดการภาษีที่แตกต่างกัน แต่เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษีต้องปริ๊นกระดาษออกมาเพื่อกรอกข้อมูลใส่ให้กรมสรรพากร ซึ่งเราจะแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน และเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันแบบนี้ จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เสียภาษีได้มากขึ้น

Q: สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามคือ กรมสรรพากรจะจัดการ data governance อย่างไร? เพราะข้อมูลนี้เป็นข้อมูลของภาครัฐ และเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก

ดร.วินิจ : ในส่วนของ DATA Governance ที่หลายคนเป็นห่วงว่าข้อมูลที่เชื่อมต่อจะรั่วไหลหรือไม่? กรมสรรพากรต้องบอกก่อนว่า ทางเรามีกฎหมายครอบคลุมเข้มข้น ที่หลายๆ คนรู้จักคือ มาตรา 10 (แห่งประมวลรัษฎากร) ที่มีบทลงโทษทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูล

แต่นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว กรมสรรพากรยังมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยจะช่วยปกป้องข้อมูลของผู้เสียภาษี จึงสามารถมั่นใจได้ว่า แม้จะทำการเชื่อมต่อข้อมูลแต่ข้อมูลจะไม่รั่วไหลอย่างแน่นอน

Q: วันนี้กรมสรรพากรบอกว่า พร้อมที่จะจับมือกับสตาร์ทอัพ และในมุมของสตาร์ทอัพควรจะต้องปรับตัว หรือเรียนรู้อะไรเพื่อจับมือกับสรรพากรได้เร็วขึ้นบ้าง?

ดร. พณชิต : ปัจจุบัน สมาคม Thailand Tech Startup ได้มีการพูดคุยกับสมาคมซอฟต์แวร์ไทย เราคุยกันว่า เป็นไปได้มั้ยที่ข้อมูลของทั้งสองฝั่งจะวิ่งหากันได้ เพราะในปัจจุบันที่ต่างคนต่างมีซอฟต์แวร์และระบบเป็นของตัวเอง ทำให้มีต้นทุนในการเปลี่ยนซอฟต์แวร์ 

ผมมองว่า หากสรรพากรเปิดโอกาส จะมีคนแห่เข้ามาช่วยกันเยอะขึ้น อย่างตัวผมที่ทำระบบบัญชี ผมไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของธุรกิจทุกประเภทได้ เพราะแต่ละอย่างก็มีผู้เชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป ผมรู้สึกว่า การมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเอาข้อมูลมารวมกัน จะทำให้ภาพรวมของประเทศดีขึ้น

สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องไม่ให้ทุกอย่างเป็นภาระของภาครัฐ เพราะเรื่องของประเทศเป็นเรื่องที่เอกชนและภาครัฐต้องช่วยกันทำ ประเทศถึงจะไปด้วยกันได้

Q: ในกรณีที่มีหลายได้หลายทาง ควรจะเริ่มต้นกับระบบของกรมสรรพากรอย่างไรดี?

ดร.วินิจ : คนที่มีรายได้หลายทางอาจจะมองสรรพากร และภาษีเป็นอุปสรรคและมีความยุ่งยากในการเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า โลกเปลี่ยนไปเยอะ แทนที่จะมองว่าภาษีเป็นอุปสรรค ก็ควรมองว่าภาษีก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารทางการเงินเหมือนกัน แทนที่จะวิ่งหนี สู้เข้ามาเรียนรู้และทำให้เป็นโอกาส ทำให้คุณและธุรกิจของคุณมีข้อได้เปรียบ

ในปัจจุบันเรามีสตาร์ทอัพ ซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ที่จะช่วยบริหารจัดการให้ รวมถึงกรมสรรพากรเองก็พยายามที่จะปรับตัว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น แน่นอนว่าการเชื่อมโยงข้อมูลจะค่อยๆ เดินไป และจะทำให้ทุกคนสะดวกมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้มาเราจะได้มาทั้งความสะดวก รวดเร็ว ความโปร่งใส และสุดท้ายที่เราคาดหวังคือ ความเป็นธรรมกับทุกคน

เพราะต่อไปนี้ คุณจะไม่ต้องกังวลอีกแล้วว่า คู่ค้าของคุณเสียภาษีหรือไม่ เพราะทุกคนจะมีระบบที่ได้รับการยืนยัน ซึ่งสรรพากรจะมีรหัสจากการทำ Data Analytics ซึ่งทำให้สรรพากรเห็นข้อมูลมากขึ้น และในวันนี้เราเป็นห่วงผู้ที่ยังหนีภาษีอยู่ และอยากให้ค่อยๆ เข้ามาสู่ระบบภาษี เพราะสรรพากรมีระบบคอยให้บริการและคอยดูแล ทำให้เกิดความเป็นธรรม และทำให้ท่านเสียภาษีตามที่ควรจะต้องเสียจริงๆ สรรพากรอยากเชิญชวนว่า

ภาษีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และอยากให้มองภาษีเป็นโอกาสมากกว่าเป็นความยุ่งยาก

Q: จุดเริ่มต้นที่อยากให้ประชาชนปรับความคิดเกี่ยวกับสรรพากร มีคำแนะนำอะไรบ้าง?

ดร.วินิจ : ทุกคนสามารถใช้งานได้ตามช่องทางที่ทุกคนสะดวก และสำหรับนโยบายอธิบดีกรมสรรพากร ภายใต้การนำของ ดร. เอกนิติ ตั้งแต่วันแรกที่ท่านเข้ามา คนยังเข้าใจว่ากรมสรรพากรเป็นใหญ่ แต่วันนี้เจ้าหน้าที่สรรพากรทุกคนพยายามจะยิ้มให้มากที่สุด เพื่อที่ผู้เสียภาษีจะได้มองว่าเราเป็นมิตร และเราเองก็เป็นผู้เสียภาษีเช่นกัน เราก็พยายามที่จะเข้าใจผู้เสียภาษีให้มากขึ้น และคิดว่าการเรียนรู้ไปด้วยกันน่าจะเป็นสิ่งจำเป็น

Q: ในฐานะสตาร์ทอัพ อยากจะฝากอะไรกับกรมสรรพากร หรือผู้เสียภาษีบ้าง?

ดร. พณชิต : อยากจะฝากให้มาคุยกันทั้งผู้ใช้ซอฟต์แวร์ และผู้สร้างซอฟต์แวร์ ให้มองนโยบายภาษีเหมือนซอฟต์แวร์ และมองประชาชนเหมือนคนใช้งาน สุดท้ายแล้วถ้าประชาชนไม่ด่าผม ผมก็จะไม่รู้ว่าต้องปรับตัวตรงไหน และถ้าผมไม่ปรับตัว ประชาชนก็จะไม่ดีขึ้น อย่ากลัวผิด แต่ผิดแล้วต้องแก้ให้เร็ว และกล้ายอมรับว่ามีความผิดพลาดในระบบ นี่คือสิ่งสำคัญ ต้องเปิดใจ ใจกว้างให้กันและกัน

ผศ.ดร. ยุทธนา : ผมเชื่อว่า ผู้เสียภาษีทุกคนคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศนี้ คือเราต้องยอมรับว่า งบประมาณแผ่นดินส่วนใหญ่ มาจากเงินภาษีที่พวกเราจ่ายไป การที่ผู้เสียภาษีมีอุปสรรคในการจัดการภาษี ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่หน่วยงานราชการ หรือรัฐจะต้องเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกด้วย และมองว่าวันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ที่เราเริ่มเห็นแล้วว่า ภาครัฐใส่ใจเรื่องนี้อยู่

Q: ก้าวจากนี้ต่อไปของกรมสรรพากร จะมีอะไรบ้าง?

ดร.วินิจ : ต้องยอมรับว่า หลายๆ เรื่องอาจจะยังไม่ได้ดั่งใจอย่างที่ผู้เสียภาษีต้องการ ก็ต้องบอกว่าเรามีความพยายาม และมีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้แน่ๆ และวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจของกรมสรรพากร ที่เราจะทำเรื่องแบบนี้ให้เกิด เพื่อก้าวสู่สรรพากรยุคใหม่ ที่จะเข้าใจ และเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้เสียภาษีให้มากที่สุด

Q: กรมสรรพากรในอุดมคติ ที่ทุกฝ่ายทำงานง่ายขึ้น จะส่งผลดีต่อกรมสรรพากรและประเทศอย่างไร?

ดร.วินิจ : อย่างแรกคือความสะดวกมากขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น และอยากให้เป็นธรรมกับทุกคน เพราะสิ่งที่หลายคนกังวลก็คือ คนอื่นเสียภาษีเหมือนเราหรือเปล่า? เราต้องคิดว่าระบบเหล่านี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ทำให้ทั้งสะดวก โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกคน

นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกรมสรรพากรก็ว่าได้ และไม่ว่าจะเป็นโครงการ PIT Digital Service หรือการ Open API ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้เสียภาษีทุกท่าน เพราะนั่นหมายความว่า ผู้เสียภาษีมีความหวังว่าเรื่องภาษีจะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ และสามารถจัดการภาษีได้แม้ไม่มีความรู้ด้านภาษีเลยก็ตามที สำหรับใครที่อยากดูคลิปไลฟ์งานสัมนานี้เต็มๆ สามารถติดตามได้ที่ Facebook กรมสรรพากร : www.facebook.com/RevenueDepartment

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)