WHO ประกาศ โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉิน-สธ.เตรียมรับมือแล้ว

ทั่วไป

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมยกระดับการเฝ้าระวัง โรคฝีดาษลิง ครอบคลุมทั่วประเทศ หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

24 กรกฎาคม 2565 – ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประชุมเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเข้าประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกล

ตรวจสอบช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ “โรคฝีดาษลิง” ในไทยเพิ่ม-ยังไม่ต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) กระทรวงสาธารณสุขได้เรียกประชุมทันทีเพื่อเตรียมแนวทางตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค การป้องกันและการดูแลรักษา

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังติดตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียซึ่งปัจจุบันได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว รวมถึงได้ตรวจสอบผู้สัมผัสใกล้ชิดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบผู้ใดที่ติดเชื้อฝีดาษวานร จึงได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ให้เพิ่มความระมัดระวังบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานของระบบเฝ้าระวังจากสถานการณ์โควิด 19 อยู่แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ยกระดับการเฝ้าระวัง โรคฝีดาษลิง เป็นระดับกระทรวง ครอบคลุมทั่วไปประเทศ

นายอนุทินกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเฝ้าระวังจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรมควบคุมโรค เป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งจะทำให้การสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้

ส่วนด้านการรักษาพยาบาล โรคฝีดาษวานรมียารักษาเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง จึงใช้การรักษาตามอาการ ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ โดยคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะมีการประชุมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวทางคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกต่อไป

“ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีป้องกันโรคโควิด-19 ที่ทุกคนปฏิบัติอยู่ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการติดโรคได้ส่วนหนึ่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวทิ้งท้าย

WHO ประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร.โดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แถลงภายหลังการหารือคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง โดยล่าสุดประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) หลังพบว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นรวมกว่า 16,000 คน จาก 75 ประเทศทั่วโลก

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ จะไม่ได้บังคับให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกมาตรการแต่อย่างใด แต่ก็ทำให้ WHO สามารถระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรได้มากขึ้น และทำให้สามารถเกิดความร่วมมือระดับนานาชาติในการรักษาและแบ่งปันวัคซีน รวมทั้งการออกมาตรการด้านการค้าและการเดินทาง โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่สนามบินได้

รู้จัก “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox)

โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้จากเลือดหรือสารคัดหลั่งตุ่มหนองของสัตว์ รวมทั้งติดโรคจากคนสู่คนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง การสัมผัสแผลหรือใช้ของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโดยตรง และสามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์สู้ทารกในครรภ์ได้

อาการ 4 ระยะ ของโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการช่วง 5 – 21 วันหลังจากได้รับเชื้อ
  2. ระยะไข้ 1 – 4 วัน มีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
  3. ระยะผื่น 1 – 2 สัปดาห์ จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น ผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย
  4. ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)