รับเงินอั่งเปา / แต๊ะเอีย ตรุษจีน ต้องเสียภาษีมั้ย?

ทั่วไป

2,908 VIEWS

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่เคยสงสัยว่า เงินอั่งเปาที่คุณได้รับในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น ตามกฎหมายถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ วันนี้ iTAX จะมาช่วยไขข้อข้องใจนี้ให้ได้ฟัง

ทำความรู้จัก เงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามกฎหมาย

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็อาจจะต้องบอกว่า เงินได้ คือ อะไรก็ตามที่เมื่อเรารับมาแล้วมีส่วนทำให้เรารวยขึ้น และคุณจะมีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และหากจะว่ากันตามจริง กฎหมายกำหนดให้เงินได้หรือรายได้ที่เราได้รับ เป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีทั้งหมด เว้นเสียแต่ว่า จะมีกฎหมายที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เงินได้ก้อนนั้นเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

(เพิ่มเติม : เงินได้)

เงินที่ได้จากอั่งเปาตรุษจีนต้องเสียภาษีมั้ย?

สำหรับคำถามที่ว่า เงินอั่งเปาตรุษจีนที่เราได้รับ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายหรือไม่? ต้องตอบกันตามตรงว่า “เงินอั่งเปาเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีก็ต่อเมื่อได้รับในจำนวนที่ไม่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น” ส่วนอั่งเปาที่เราได้รับมาเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี เราอาจจะต้องย้อนไปดูก่อนว่า เราอยู่ในสถานะไหน? เป็นผู้ให้หรือผู้รับ? รับเงินอั่งเปาในฐานะลูกหลานหรือพนักงานบริษัท เพราะกฎหมายกำหนดไว้แตกต่างกัน

กรณีเป็นผู้รับอั่งเปา

1. รับอั่งเปาจากพ่อแม่ หรือ คนในครอบครัว

กรณีที่คุณรับอั่งเปาจากพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อากง อาม่า เหล่ากง เหล่าม่า (บุพการีทั้งสาย) หรือรับจาก ลูก หลาน เหลน (ผู้สืบสันดานทั้งสาย) หรือ รับจากคู่สมรสตามกฎหมาย ก็สบายใจได้เพราะ กฎหมายกำหนดให้ เงินอั่งเปาที่คุณได้รับเป็นเงินได้ที่ได้รับตามหน้าที่ธรรมจรรยา หรือรับตามประเพณี และถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีหากได้รับไม่เกิน 20 ล้านบาท

หากอั่งเปาที่คุณได้รับมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท จะต้องนำเงินส่วนที่เกินจาก 20 ล้านบาทแรกมาคำนวณภาษีในอัตรา 5%

2. รับอั่งเปาจากคนรู้จักตามประเพณี

ในกรณีที่คุณรับอั่งเปาจากคนรู้จักใกล้ชิด ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกัน นอกเหนือจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะกฎหมายกำหนดให้อั่งเปาที่คุณได้รับเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน แตกต่างกันตรงที่ อั่งเปาที่คุณได้รับจากคนรู้จัก หรือคนใกล้ชิด จะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท และหากอั่งเปาที่คุณได้รับมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท จะต้องนำเงินส่วนที่เกินจาก 10 ล้านบาทแรกมาคำนวณภาษีในอัตรา 5% ด้วย

3. ได้อั่งเปาจากเจ้านาย หรือ บริษัท

ในกรณีที่คุณได้รับอั่งเปาจากเจ้านาย หรือบริษัท ก็ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่า “อั่งเปานี้ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกฎหมายมองว่า เงินอั่งเปาที่คุณได้จากบริษัทคือ เงินที่เป็นค่าตอบแทนที่เกิดจากการทำงาน (ค่าตอบแทนจากการจ้างงาน) (ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร) และบริษัทสามารถเอาเงินจำนวนนี้มา หักค่าใช้จ่าย ได้ จึงเป็นสาเหตุที่เงินอั่งเปาที่คุณได้รับจากเจ้านายหรือบริษัทไม่ได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง

กรณีเป็นผู้ให้อั่งเปา

1. ผู้ให้เป็นพ่อแม่ หรือ คนในครอบครัว เนื่องจากเป็นเงินที่ให้ตามประเพณี ในกรณีนี้ พ่อแม่หรือผู้ให้อั่งเปา จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

2. ผู้ให้เป็นนายจ้าง หรือ บริษัท กรณีที่คนแจกอั่งเปาเป็นนายจ้าง หรือบริษัท จะต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  • กรณีที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากกฎหมายมองว่า อั่งเปาที่บริษัทจ่ายให้พนักงาน เป็นค่าตอบแทนพิเศษที่บริษัทหรือนายจ้างมอบให้แก่พนักงาน จึงอนุญาตให้บริษัทนำเงินส่วนนี้ไปหักค่าใช้จ่ายได้ แต่มีข้อแม้ว่า บริษัทจะต้องจ่ายเงินพิเศษ (อั่งเปา) ให้กับลูกจ้างหรือพนักงานทุกคน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ
  • กรณีที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ในกรณีที่บริษัทไม่ได้แจกอั่งเปาหรือเงินพิเศษให้แก่พนักงานทุกคน แต่เป็นการให้เงินพิเศษแก่พนักงานบางคน บริษัทจะไม่สามารถนำเงินส่วนนี้มาหักค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากกฎหมายมองว่า เป็นการให้โดยเสน่หา ถือเป็นรายจ่ายส่วนตัว จึงไม่สามารถนำมาลงบันทึกและหักค่าใช้จ่ายของบริษัทได้นั่นเอง (อ้างอิง : มาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร)

ได้อั่งเปาต้องเสียภาษียังไง?

บอกก่อนว่า เงินอั่งเปาส่วนเกิน 20 ล้านบาท (หรือ 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี) ที่คุณได้รับนั้น ถือเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 และคุณสามารถยื่นภาษีผ่านแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ได้ด้วยตัวเอง และสามารถเลือกได้ว่า จะเสียภาษี 5% หรือ นำเงินอั่งเปาที่ได้รับไปรวมคำนวณกับเงินได้ที่ต้องยื่นภาษีทั้งปีก็ได้

(เพิ่มเติมที่ : ภาษีการให้)

แต่ถ้าเป็นเงินอั่งเปาที่ได้รับจากนายจ้างหรือบริษัทจะกลายเป็น เงินได้ประเภทที่ 1 เพื่อเสียภาษีรวมกับเงินเดือนที่ได้รับในปีนั้น

และหากคุณเป็นกังวลหรือไม่แน่ใจว่า เงินอั่งเปาที่คุณได้รับจะทำให้คุณต้องเสียภาษีเพิ่มเท่าไหร่ คุณสามารถทดลอง คำนวณภาษี ผ่าน Application iTAX ได้ ใช้ฟรีทั้ง iOS และ Android เหมือนเดิม

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)