เงินชดเชยจากการถูกไล่ออก/เลิกจ้างกะทันหัน ต้องเสียภาษีมั้ย?

ทั่วไป

116,210 VIEWS

แม้ว่าการถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก แต่ในฐานะคนทำงานเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การถูกเลิกจ้าง หรือ lay-off พนักงานนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด และหากวันนั้นมาถึง เราดันเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้ไปต่อกับบริษัท จะได้รับเงินชดเชยส่วนไหนบ้าง และจะต้องจัดการภาษีอย่างไร? iTAX จะบอกให้ฟัง

1. เริ่มต้นที่ ค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำงานทุกคนจะต้องรู้ เพราะเมื่อคุณถูกบอกเลิกจ้างกะทันหัน ไม่ว่าสาเหตุมาจากบริษัทต้องการลดจำนวนพนักงาน หรือ บริษัทปิดกิจการก็ตามแต่ คุณจะต้องรู้ว่า คุณมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า

  1. จะต้องทำงานในองค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 120 วัน
  2. จะต้องถูกเลิกจ้างเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีที่ลูกจ้างลาออกเอง
  3. การถูกเลิกจ้างนั้นจะต้องไม่มีสาเหตุมาจากการทำผิดกฎหมาย

หมายเหตุ : ค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จะได้รับเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณทำงานในบริษัทหรือองค์กรเหล่านั้น (แน่นอนว่า แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน) ซึ่งแบ่งออกเป็น

  • ทำงานเกิน 120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ในกรณีนี้กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างจ่ายเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30  วัน (รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้าย 1 เดือน)
  • ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ในกรณีนี้กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างจ่ายเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน (รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้าย 3 เดือน)
  • ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ในกรณีนี้กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างจ่ายเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน (รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้าย 6 เดือน)
  • ทำงานครบ 6  ปี แต่ไม่ถึง 10  ปี ในกรณีนี้กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างจ่ายเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน (รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้าย 8 เดือน)
  • ระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ในกรณีนี้กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างจ่ายเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน (รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้าย 10 เดือน)
  • ระยะเวลาทำงานตั้งแต่  20 ปีขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชย ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน

ในกรณีที่มีค่าตอบแทนอื่นๆ นอกจากเงินเดือน

หากระหว่างทำงานคุณได้รับเงินพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำมันรถ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ทางบริษัทจ่ายแบบเหมาไปพร้อมกับเงินเดือน (ไม่ได้เบิกจ่ายตามจริง) กฎหมายถือว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้าง นั่นหมายความว่า นายจ้างจะต้องนำเงินส่วนนี้ไปคำนวณรวมกับเงินเดือนและใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าชดเชยและค่าภาษีด้วย

2. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันดีในชื่อของ “ค่าตกใจ” คือ เงินชดเชยในส่วนที่ลูกจ้างต้องได้รับจากนายจ้างในกรณีที่ถูกบอกเลิกจ้างแบบกะทันหัน ไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจเท่านั้น ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า การบอกเลิกจ้างนั้นเกิดขึ้นในกรณีใด เช่น

2.1 เลิกจ้างทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 กรณี

  • รับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือน

นกรณีที่เป็นลูกจ้างรายเดือน กฎหมายกำหนดไว้ว่า นายจ้างจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างว่าต้องการยกเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวด ของเงินเดือน และนายจ้างต้องจ่ายค่าตกใจล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายเงินเดือน (1 เดือน)

  • รับเงินค่าจ้างรายสัปดาห์

สำหรับลูกจ้างที่รับเงินเป็นรายสัปดาห์นั้น กฎหมายกำหนดให้นายจ้างแจ้งการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน และจะต้องจ่ายค่าตกใจในการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า 7 วันเช่นกัน

2.2 ถูกเลิกจ้างเพราะปรับโครงสร้างบริษัท

ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างเพราะปรับโครงสร้างบริษัท ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือบริการ ฯลฯ ที่เป็นสาเหตุที่จะต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงนั้น นายจ้างจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน แต่หากไม่มีการแจ้งล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง ในอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นระยะเวลา 60 วัน (2 เดือน)

**ในกรณีที่คุณทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี คุณจะมีสิทธิรับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยพิเศษนี้ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างหรือเงินเดือนงวดสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ  1 ปี แต่รวมแล้วจะต้องไม่เกินเงินเดือนงวดสุดท้าย 360 วัน

2.3 เลิกจ้างเพราะย้ายออฟฟิศ

หากมีเหตุให้ต้องย้ายสถานประกอบการ หรือย้ายออฟฟิศ นายจ้างจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย  30 วัน และหากไม่ทำการแจ้งให้ลูกจ้างทราบ นายจ้างหรือบริษัทจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ในอัตราไม่น้อยกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างงวดสุดท้าย 30 วัน

แต่หากนายจ้างทำการแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าแล้ว แต่ตัวลูกจ้างเองไม่ต้องการย้ายไปทำงานในออฟฟิศหรือสถานประกอบการแห่งใหม่ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างจะต้องได้รับ

3. เงินชดเชยว่างงานประกันสังคม

มนุษย์เงินเดือนน่าจะคุ้นเคยกับประกันสังคมเป็นอย่างดี และน่าจะพอเข้าใจกันบ้างแล้วว่า นอกจากประกันสังคมจะให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลแล้ว กองทุนประกันสังคมเองยังมีเงินชดเชยสำหรับการว่างงานอีกด้วย ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า

“คุณจะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และจะต้องลงทะเบียนว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกแล้ว (สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้เช่นกัน)”

และในกรณีนี้คุณจะได้รับเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง หรือเงินชดเชยว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (คำนวณจากฐานสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน/ปี

เงินชดเชยจากการถูกไล่ออก/เลิกจ้างกะทันหัน ต้องเสียภาษีมั้ย?

มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะกังวลว่า หากได้รับเงินชดเชยกรณีที่ถูกเลิกจ้างกะทันหันจากนายจ้าง หรือ เงินชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม เราจะต้องนำเงินชดเชยที่ได้รับมาคำนวณภาษีที่ต้องยื่นในวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เงินชดเชยว่างงานที่คุณได้รับนั้น เป็นเงินชดเชยในกรณีใด เพราะหาก

1. เงินชดเชยที่ได้จากการถูกไล่ออก

1.1 หากได้รับเงินชดเชยไม่ถึง 300,000 บาท ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้มาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี

1.2 หากเงินชดเชยที่ได้รับเกิน 300,000 บาท จะต้องนำเงินที่เกินจาก 300,000 บาท มาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีด้วย

ย้ำอีกครั้งว่า การยกเว้นภาษี 300,000 บาทนั้น สามารถใช้ได้เฉพาะกรณีที่คุณได้รับเงินชดเชยจากการถูกไล่ออก หรือยกเลิกสัญญาจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น หากคุณลาออกเอง หรือ ถูกไล่ออกเพราะทำความผิดร้ายแรง คุณจะไม่สามารถขอรับเงินชดเชยส่วนนี้ และไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีในส่วนนี้ได้ (อ้างอิง ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) www.rd.go.th)

2. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่างหน้า หรือ ค่าตกใจ กฎหมายถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และหากคุณได้รับเงินชดเชยและทำงานไม่ครบ 5 ปี จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีในส่วนนี้ แน่นอนว่า คุณจะต้องนำเงินชดเชยค่าบอกกล่าวล่วงหน้านั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีด้วย (อ้างอิง www.rd.go.th)

3. เงินชดเชยว่างงานประกันสังคม

ไม่ว่าคุณจะได้รับเงินว่างงานจากประกันสังคมจากกรณีลาออกเอง หรือ ถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม คุณไม่ต้องนำเงินชดเชยที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคมไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี เนื่องจาก กฎหมายมาตรา 42(25) ประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้เงินชดเชยหรือเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมนั้น อยู่ในกลุ่มของ เงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษี (อ้างอิง www.rd.go.th) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ได้เงินทดแทนประกันสังคมเพราะตกงานต้องเสียภาษีมั้ย)

เรื่องที่ต้องระวัง

แม้ว่าเงินชดเชยที่ได้รับจากการถูกเลิกจ้าง หรือไล่ออกอย่างกะทันหัน หากไม่เกิน 300,000 บาท และเงินชดเชยว่างงานประกันสังคม จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี แต่รายได้ที่คุณได้รับก่อนตกงานนั้น จะต้องนำมายื่นภาษี คำนวณภาษี และจ่ายภาษีเงินได้ประจำปี (ในกรณีรายได้ถึงเกณฑ์) ตามปกติ และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิม

แต่หากคุณไม่มั่นใจว่า หากตกงานแล้วจะต้องวางแผนภาษีอย่างไร หรือ อยากที่จะลองคำนวณภาษีดูก่อนว่า รายได้ที่มีก่อนถูกเลิกจ้างนั้นถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ คุณสามารถใช้เว็บไซต์ iTAX คำนวณภาษีและค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี แต่เนิ่นๆ ได้ และแน่นอนว่า ใช้ฟรีเหมือนเดิม

ข้อมูลเพิ่มเติมที่: www.mol.go.th

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)