กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ เงินชดเชยค่าเสียหาย แก่ผู้เสียหายคดีอาญา

ทั่วไป

4,135 VIEWS

จากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ทีมงาน iTAX ได้ตรวจสอบประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในคดีอาญา จึงสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

เงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในคดีอาญา

1. ผู้ตายมีสิทธิขอรับค่าตอบแทนสูงสุด 200,000 บาท

ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ผู้เสียหาย (หรือทายาทของผู้เสียหายกรณีเสียชีวิต) มีสิทธิยื่นเรื่องเพื่อขอรับค่าตอบแทนเพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดข้ึนจากความผิดอาญาของผู้อื่นซึ่งจะต้องเป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ อัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ดังนี้

1.1 กรณีผู้เสียหายเสียชีวิต

ญาติผู้เสียหายมีสิทธิขอค่าตอบแทนได้สูงสุด 200,000 บาท โดยแบ่งเป็น

  • ค่าตอบแทน ในอัตราตั้งแต่ 30,000 – 100,000 บาท
  • ค่าจัดการศพ ในอัตรา 20,000 บาท
  • ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ในอัตราสูงสุด 40,000 บาท
  • ค่าเสียหายอื่นๆ ให้จ่ายเป็นเงินตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

1.2 กรณีผู้เสียหายบาดเจ็บ

ผู้เสียหายมีสิทธิขอค่าตอบแทนได้สูงสุด 228,625 บาท โดยแบ่งเป็น

  • ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท (รวมค่าห้องและค่าอาหารในอัตราวันละไม่เกิน 1,000 บาท แล้ว)
  • ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมค่าห้องและค่าอาหารในอัตราวันละไม่เกิน 1,000 บาท แล้ว)
  • ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน (ค่าแรงขั้นต่ำที่โคราช 325 บาท) ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ รวม 1 ปี ประมาณ 118,625 บาท
  • ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นๆ ให้จ่ายเป็นเงินตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

2. ค่าตอบแทนความเสียหายได้รับยกเว้นภาษี

เงินค่าตอบแทนความเสียหายเป็น เงินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ผู้รับจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำไปเสียภาษีเนื่องจากเป็นการชดเชยความเสียหาย

3. การใช้สิทธิต้องยื่นคำขอภายใน 1 ปี

แม้ผู้เสียหาย (หรือทายาท) จะมีสิทธิขอรับค่าตอบแทน แต่การใช้สิทธิต้องยื่นคำขอภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด หากไม่สามารถยื่นเรื่องเองก็สามารถทำหนังสือแต่งตั้งบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนได้

อย่างไรก็ดี ผู้เสียหายอาจได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนที่ร้องขอ หรือน้อยกว่า หรือไม่ได้รับเลยก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ซึ่งอาจพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย เช่น ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันฯ เป็นต้น

ทีมงาน iTAX ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวมา ณ ที่นี้

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)