ประกาศภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ฉบับใหม่ มีอะไรเปลี่ยน?

ประกาศกฎหมายภาษี

47,868 VIEWS

ข่าวการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ยังคงอยู่ในความสนใจของผู้เสียภาษีอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 กรมสรรพากรได้ออก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับ 347 ที่มีการปรับปรุงและแก้ไขให้เจ้าของบัญชีเงินฝากทุกท่านได้รับความสะดวกมากขึ้นจากเดิม ส่วนประกาศฉบับใหม่นี้จะมีอะไรแตกต่างไปจาก ประกาศฉบับเดิมบ้าง iTAX หาคำตอบมาให้แล้ว

ประกาศภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ฉบับใหม่ มีอะไรเปลี่ยน?

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 347 ที่ประกาศออกมาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 นั้น จะช่วยให้ผู้มีบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางไปลงทะเบียนหรือเซ็นยินยอมที่ธนาคารอีกต่อไป เพราะกรมสรรพากรจะใช้อำนาจให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากร 

และหากสรรพากรทำการตรวจสอบและพบว่า ผู้ฝากเงินรายใดได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท สรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารทำการหักดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ให้สรรพากรเอง 

หรือสามารถสรุปง่ายๆ ได้ดังนี้

  • ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี

ในกรณีนี้คุณไม่ต้องกังวลใจเลย เพราะหากสรรพากรตรวจสอบและพบว่า คุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี คุณยังจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก อยู่เหมือนเดิม

  • ได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร

หากคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทต่อปี และยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรตรวจสอบ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะหากสรรพากรตรวจสอบและพบว่าคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทต่อปี สรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารหักภาษี ดอกเบี้ยเงินฝาก 15% เอง

  • ไม่ประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้สรรพากร

ในกรณีที่คุณไม่ต้องการให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ก็สามารถทำได้ โดยที่คุณจะต้องทำการกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งกับธนาคารที่คุณเปิดบัญชี ตั้งแต่ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการแจ้งครั้งเดียวแต่มีข้อแม้ว่า

คุณจะต้องกรอกแบบฟอร์มทุกธนาคารที่คุณมีบัญชี และสำหรับเจ้าของบัญชีที่แจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลต่อรอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรก ในเดือนมิถุนายน เป็นต้นไป

จากนั้น ธนาคารจะทำการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมดให้สรรพากร แม้ว่าจะได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทต่อปีก็ตาม อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือโกรธสรรพากรไป เพราะคุณสามารถยื่นขอเงินคืนภาษีตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีได้ 

และไม่ว่าคุณจะยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้สรรพากรโดยอัตโนมัติ หรือแจ้งธนาคารว่าไม่ต้องการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร หากสรรพากรตรวจพบว่าคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกินกว่า 20,000 บาทต่อปี ก็ยังต้องเสียภาษีตามปกติ

และกรมสรรพากรยังแจ้งเพิ่มเติมว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมาย ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถเลือกใช้สิทธิไม่รวมคำนวณภาษีปลายปีได้ แต่ในกรณีที่ไม่ถูกหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไว้ จะต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีปลายปีด้วย

อ้างอิงประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 344 ของกรมสรรพากร

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 กรมสรรพากรได้ออก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 344 ว่า กรมสรรพากรยังคงให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีเหมือนเดิม แต่มีเงื่อนไขว่า

  • เจ้าของบัญชีจะต้องลงทะเบียนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเพื่อเป็นการยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562
  • ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีจะต้องไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
  • เจ้าของบัญชีต้องเป็นผู้เสียภาษี
  • ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว

** ทั้งนี้ทั้งนั้น หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขข้างต้น ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับตั้งแต่บาทแรกจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทันที แม้ว่าจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม แต่ๆๆๆ ผู้เสียภาษีทั้งหลายก็ยังไม่ต้องกังวลใจไป เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้สามารถขอคืนเงินภาษีโดยการยื่นภาษีประจำปี (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก )

*** หมายเหตุ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 344 ได้ถูกยกเลิก และเกณฑ์การจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก จะเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 347 แทน

และสำหรับผู้เสียภาษีที่รู้ตัวว่าได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทต่อปีแน่ๆ อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเศร้าใจไป คุณสามารถเลือกใช้ application iTAX Pro เพื่อคำนวณภาษีและวางแผนภาษี พร้อมทั้งค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่เหมาะสมกับคุณได้อยู่ (แอบกระซิบว่า โหลดใช้ได้ฟรีทั้ง iOS และ Android)

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.rd.go.th

www.moneyandbanking.co.th

www.dailynews.co.th

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)