วิธีช่วยให้พนักงานประจำมีเงินเดือนเหลือเพิ่มโดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

ภาษี

6,932 VIEWS

พนักงานประจำหลายคนไม่ทราบว่ามีวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้ตัวเองได้โดยที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเพิ่ม นั่นคือ การขอให้บริษัทช่วยปรับลด “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” รายเดือนของพนักงาน โดยการแจ้งสิทธิลดหย่อนของพนักงานให้ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นได้ทันทีที่จ่ายเงินเดือนครั้งต่อไป

หมายเหตุ: วิธีนี้ช่วยได้เฉพาะพนักงานที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายรายเดือนเท่านั้น หากพนักงานไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มจากวิธีการนี้

แต่อย่างไรก็ดี ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างภาษีเบื้องต้นก่อน และทั้ง 2 ฝ่ายต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันด้วย การปรับลด “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” รายเดือนให้พนักงานจึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่ง iTAX จะอธิบายประเด็นนี้อย่างละเอียดเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง

1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินเดือนพนักงานคำนวณอย่างไร?

โดยปกติแล้ว การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายรายเดือนของพนักงาน จะใช้วิธีคำนวณจากการประมาณการรายได้และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของพนักงานตลอดทั้งปี แล้วจึงค่าภาษีทั้งหมดที่คำนวณได้มาแบ่งซอยย่อยเป็นรายเดือน เช่น

นาย ก. เงินเดือน 38,000 บาท ถูกหักประกันสังคมเดือนละ 750 บาท

จากข้อเท็จจริงเท่านี้ จะสรุปเป็นข้อมูลภาษีตลอดทั้งปีของ นาย ก. ได้ดังนี้

  • เงินเดือนรวม 456,000 บาท (฿38,000 × 12)
  • ได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท (50% ของเงินเดือนรวม ฿456,000 แต่จำกัดเพดานสูงสุด ฿100,000)
  • ได้สิทธิหักค่าลดหย่อนจากที่ถูกหักประกันสังคมรวม 9,000 บาท (฿9,000 × 12)
  • ได้สิทธิหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (มีสิทธิได้รับทุกคน ทุกอาชีพ)

เมื่อคำนวณภาษีด้วยสูตร เงินได้ − ค่าใช้จ่าย − ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จึงได้ผลดังนี้

เงินได้ 456,000 − ค่าใช้จ่าย 100,000 – ค่าลดหย่อน (60,000 + 9,000) = เงินได้สุทธิ 287,000 บาท

เมื่อคำนวณภาษีทั้งปีจากฐานเงินได้สุทธิ 287,000 บาท แล้วคิดเป็นค่าภาษีตลอดทั้งปี 6,850 บาท

คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย

คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย

จะเห็นได้ว่ากรณีนี้ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว 33% (อ้างอิงจากแอป iTAX Pro)

จากนั้นจึงนำค่าภาษี 6,850 บาท ไปเฉลี่ย 12 เดือน จึงกลายเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย เดือนละ 570.83 บาท

2. การปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ช่วยพนักงานได้อย่างไร?

ในแต่ละเดือนก่อนโอนเงินเดือนให้พนักงานได้ นายจ้างจะต้องหักประกันสังคม และภาษีหัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างก่อน โครงสร้างการจ่ายเงินเดือนของคนทั่วไปจึงเป็นดังนี้

เงินเดือน − ประกันสังคม − ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) = เงินเดือนที่ได้รับจริง

เช่น

เงินเดือน 38,000 − ประกันสังคม 750 − ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 570.83 = เงินเดือนที่ได้รับจริง 36,679.17

หมายเหตุ: เนื่องจากส่วนใหญ่เมื่อคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้วมักจะมีเศษทศนิยม ดังนั้น เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเวลาเงินโอนเข้าธนาคารจึงมักมีเศษสตางค์ด้วย

ผลลัพธ์

ด้วยโครงสร้างการจ่ายเงินเดือนแบบนี้ หากพนักงานสามารถลดภาษี ณ ที่จ่ายลงได้ เช่น เหลือภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0 บาท เงินเดือนที่ได้รับจริงจะเปลี่ยนเป็นดังนี้แทน

เงินเดือน 38,000 − ประกันสังคม 750 − ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0 = เงินเดือนที่ได้รับจริง 37,250

จะเห็นได้ว่าภายหลังลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว เดิมที่ถูกหักภาษีเดือนละ 570.83 บาท จะลดลงเหลือเพียงเดือนละ 0 บาท ช่วยให้มีเงินเดือนเหลือเพิ่มทันทีเดือนละ 570.83 บาท

ดังนั้น การปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จึงช่วยให้พนักงานได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือนเหลือเพิ่มขึ้นได้จริง

3. การแจ้งสิทธิลดหย่อนให้นายจ้างทราบ จะช่วยลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้อย่างไร?

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือนลดลง คือ การแจ้งสิทธิลดหย่อนภาษีที่เรามีให้นายจ้างทราบ เพื่อให้นายจ้างนำสิทธิลดหย่อนนั้นไปคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าภาษีที่คำนวณได้ทั้งปีลดลง และเมื่อนำค่าภาษีทั้งปีที่ลดลงแล้วมาเฉลี่ยหักเป็นรายเดือน ภาษีที่ถูกหักแต่ละเดือนก็ย่อมลดลงด้วยเช่นกัน

เช่น

นาย ก. เงินเดือน 38,000 บาท ถูกหักประกันสังคมเดือนละ 750 บาท แต่คราวนี้ นาย ก. แจ้งที่ทำงานไปด้วยว่ามีสิทธิลดหย่อนคุณพ่อ 30,000 บาท และเบี้ยประกันชีวิตที่ยังไม่ได้จ่ายตอนนี้แต่มีแผนว่าจะซื้อตอนช่วงปลายปีอีก 100,000 บาท

จากข้อเท็จจริงเท่านี้ จะสรุปเป็นข้อมูลภาษีตลอดทั้งปีของ นาย ก. ได้ดังนี้

  • เงินเดือนรวม 456,000 บาท (฿38,000 × 12)
  • ได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท (50% ของเงินเดือนรวม ฿456,000 แต่จำกัดเพดานสูงสุด ฿100,000)
  • ได้สิทธิหักค่าลดหย่อนจากที่ถูกหักประกันสังคมรวม 9,000 บาท (฿9,000 × 12)
  • ได้สิทธิหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (มีสิทธิได้รับทุกคน ทุกอาชีพ)
  • ได้สิทธิหักค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดา 30,000 บาท
  • ได้สิทธิหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท (แจ้งสิทธิลดหย่อนล่วงหน้าได้ แม้จะยังไม่ได้จ่ายจริงตอนนี้ก็ตาม)

เมื่อคำนวณภาษีด้วยสูตร เงินได้ − ค่าใช้จ่าย − ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จึงได้ผลดังนี้

เงินได้ 456,000 − ค่าใช้จ่าย 100,000 − ค่าลดหย่อน (60,000 + 9,000 + 30,000 + 100,000) = เงินได้สุทธิ 157,000 บาท

เมื่อคำนวณภาษีทั้งปีจากฐานเงินได้สุทธิ 157,000 บาท แล้วคิดเป็นค่าภาษีตลอดทั้งปี 350 บาท

คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย

จากนั้นจึงนำค่าภาษี 350 บาท ไปเฉลี่ย 12 เดือน จึงกลายเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย เดือนละ 29.16 บาท

คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย

จะเห็นได้ว่าภายหลังแจ้งสิทธิลดหย่อนแล้ว การใช้สิทธิลดหย่อนจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 33% เป็น 97% (เพิ่มจากเดิม 64%) ส่งผลให้จากเดิมที่ถูกหักภาษีเดือนละ 570.83 บาท จะลดลงเหลือเพียงเดือนละ 29.16 บาท ช่วยให้มีเงินเดือนเหลือเพิ่มทันทีเดือนละ 541.67 บาท (฿570.83 − ฿29.16)

หมายเหตุ:

การแจ้งสิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต และค่าซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่มีแผนว่าจะซื้อภายในปีนี้ สามารถแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้จ่ายจริงตอนนี้ก็ตาม

ส่วนการแจ้งสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา บุตร คู่สมรส และเงินบริจาคต่างๆ สามารถแจ้งให้นายจ้างทราบได้ต่อเมื่อคุณได้สิทธิลดหย่อนนั้นอยู่แล้ว

4. หากพนักงานต้องการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของตัวเองให้น้อยลงต้องทำอะไรบ้าง?

สิ่งที่พนักงานต้องทำ

  1. แจ้งสิทธิลดหย่อนที่มีหรือที่ตั้งใจว่าจะซื้อเพิ่มภายในปีนี้เป็นลายลักษณ์อักษรให้นายจ้างทราบ โดยอาจแจ้งเป็นแบบฟอร์มหรือช่องทางใดก็ได้ที่นายจ้างกำหนด
  2. ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนของตัวเองให้เรียบร้อยก่อนว่าตนมีสิทธิได้รับค่าลดหย่อนนั้นจริง เช่น ถ้าจะใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดาก็ต้องตรวจสอบแล้วว่าบิดามารดาอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ หรือถ้าตั้งใจจะซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี วงเงินที่จะแจ้งให้นายจ้างหักลดหย่อนก็ต้องไม่เกินเพดานสิทธิที่ตนมีอยู่ตามกฎหมาย

สิ่งที่นายจ้างต้องทำ

  1. นายจ้างจะต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามสิทธิลดหย่อนที่ลูกจ้างแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม เพื่อลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้พนักงานโดยเริ่มตั้งแต่เดือนที่แจ้งสิทธิเป็นต้นไป
  2. นายจ้างต้องบันทึกการแจ้งสิทธิลดหย่อนของพนักงานแต่ละคนไว้เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบ และใช้ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย

สิ่งที่นายจ้างที่เป็นลูกค้า iTAX payroll ต้องทำ

สำหรับลูกค้า iTAX payroll สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเพิ่มข้อมูลค่าลดหย่อนของพนักงานแต่ละคนเข้าไปในระบบ แล้ว iTAX จะคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้เองอัตโนมัติ พร้อมเตรียมไฟล์แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 1 ฉบับอัปเดตแล้ว เพื่อให้ลูกค้า iTAX payroll สามารถนำไปยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่านช่องทาง E-Filing ของกรมสรรพากรได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านโปรแกรม .EXE บนระบบ Windows เพื่อแปลงไฟล์ซ้ำอีก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งาน feature ส่วนนี้สามารถสอบถามฝ่ายขายได้ที่ 062-486-9787

ส่วนลูกค้า iTAX payroll แบบ Full-service สามารถแจ้งข้อมูลลดหย่อนของพนักงานเพิ่มเติมได้ตามช่องทางปกติ เพื่อให้ทีมงานจะปรับปรุงฐานข้อมูลค่าลดหย่อนของพนักงานให้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าบริการปกติ

สรุปผลลัพธ์จากการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย

พนักงานจะมีเงินเดือนเหลือเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแจ้งสิทธิลดหย่อนจะทำให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ละเดือนลดลง แต่อย่างไรก็ดี พนักงานจะได้รับเงินคืนภาษีลดลงเมื่อถึงเวลายื่นภาษีในปีถัดไป หรือในบางกรณีอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มด้วย เนื่องจากระหว่างปีถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยกว่าปกติ

นายจ้างไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังคงเงินเดือนที่จ่ายให้พนักงานยังคงเท่าเดิมเหมือนเดือนที่ผ่านมา เพราะเป็นการโยกเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาจ่ายให้พนักงานแทนที่จะนำส่งให้กรมสรรพากร อย่างไรก็ดี นายจ้างจะมีภาระเรื่องการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายใหม่ในเดือนที่พนักงานแจ้งสิทธิลดหย่อน นายจ้างอาจจำต้องจัดทรัพยากรและบุคลากรมาดูแลงานส่วนนี้เพิ่มขึ้น

ใช้ iTAX คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้ สบายกว่าเยอะ

ติดต่อฝ่ายขาย 062-486-9787 iTAX payroll คำนวณภาษีเงินเดือนอัตโนมัติ

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)