ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพศเดียวกันแต่งงานได้ แต่อาจไม่มีสิทธิลดหย่อน

ทั่วไป

1,796 VIEWS

วันนี้ (8 ก.ค. 2563) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยมีหลักการสำคัญคือเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี แต่ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องให้สิทธิ ‘ค่าลดหย่อนคู่ชีวิต’ เทียบเท่า ‘ค่าลดหย่อนคู่สมรส’

คู่แต่งงานเพศเดียวกันเรียกว่า ‘คู่ชีวิต’ ไม่ใช่ ‘คู่สมรส’

การแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันจะเรียกว่า ‘การจดทะเบียนคู่ชีวิต’ ไม่ใช่ ‘การจดทะเบียนสมรส’ ดังนั้น คู่แต่งงานเพศเดียวกันจึงเรียกว่า ‘คู่ชีวิต’ ไม่ใช่ ‘คู่สมรส’ แต่คดีคู่ชีวิตจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาเป็นคดีครอบครัว รวมถึงความสัมพันธ์เกี่ยวกับทรัพย์สิน มรดก และครอบครัวของคู่ชีวิตก็จะใช้มาตรฐานเดียวกับคู่สมรสโดยทั่วไปด้วย

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต

  1. คำว่า ‘คู่ชีวิต’ หมายความว่า บุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิต
  2. คดีเกี่ยวกับคู่ชีวิตจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาเป็นคดีครอบครัว ของศาลเยาวชนและครอบครัว
  3. การจดทะเบียนคู่ชีวิต จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือ ศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
  5. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  6. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต ให้แบ่งเป็น สินส่วนตัว และสินทรัพย์ร่วมกัน เหมือนคู่สมรส
  7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้
  8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามกฎหมายมรดก
  9. ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่วนที่เกี่ยวของกับคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตได้โดยอนุโลม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันต้องแก้ไขด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเป็นต้องแก้ไขสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนี้

  1. ชายหรือหญิง จะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรส หรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้ (เทียบเคียงได้กับการสมรสซ้อน)
  2. เหตุผลฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉัน ‘คู่ชีวิต’ (ซึ่งเทียบเคียงได้กับเหตุฟ้องหย่าปกติหากสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉัน ‘คู่สมรส’) 
  3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

แต่อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่า มติ ครม. ครั้งนี้ ยังไม่มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมั้นของคู่ชีวิตแต่อย่างใด

ยังไม่มีการพูดถึงเรื่อง ‘ค่าลดหย่อนคู่ชีวิต’

มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งไม่มีรายได้ อีกฝ่ายหนึ่งจะสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน กฎหมายให้สิทธิค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท อยู่แล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการให้สิทธิ ‘ค่าลดหย่อนคู่ชีวิต’ เทียบเคียงกับ ‘ค่าลดหย่อนคู่สมรส’ เหมือนกับประเด็นอื่นๆ ที่การเทียบเคียงกับคู่สมรส เช่น ความสัมพันธ์เกี่ยวกับทรัพย์สิน ครอบครัว มรดก หรือเหตุฟ้องหย่า แต่อย่างใด

ครม. มอบทุกกระทรวงประเมินผลกระทบ

ครม. เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้กระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาผลกระทบ และแนวทางที่จะแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกสิทธิ์เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ จึงทำให้การประเมินและติดตามการกฎหมายของ 2 ฉบับนี้หลังบังคับใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ ตามมา เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกัน

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)