อุดหนุนเงินภาษีให้พรรคแต่โดนยุบพรรค เงินนั้นไปไหน?

ทั่วไป

1,456 VIEWS

ในกรณีที่เรายื่นภาษีพร้อมเลือกอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองที่เราชื่นชอบ แต่ต่อมามีเหตุผลให้พรรคการเมืองที่เราอุดหนุนภาษีให้ถูกยุบพรรคไป ถ้าเป็นแบบนี้ เงินที่เราบริจาคไปจะถึงมือพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปหรือไม่? และ เมื่อถูกยุบพรรคแล้วเงินภาษีที่เราบริจาคจะไปไหน? ทีมงาน iTAX หาคำตอบมาให้แล้ว

การอุดหนุนเงินภาษีพรรคการเมือง คืออะไร?

การอุดหนุนเงินภาษีพรรคการเมือง เป็นสิทธิของผู้เสียภาษีที่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกได้ว่า ต้องการให้เงินภาษีของเราถูกนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมืองใด โดยกฎหมายกำหนดให้

ผู้เสียภาษีสามารถบริจาคเงินอุดหนุนพรรคการเมืองได้ไม่เกินวงเงินภาษีของตัวเอง

(สูงสุดไม่เกิน 500 บาท) และสามารถทำได้เมื่อยื่นภาษีเท่านั้น

(กรณีที่ยื่นภาษีแต่ไม่มีภาษีต้องเสีย จะไม่สามารถทำการบริจาคอุดหนุนเงินภาษีพรรคการเมืองได้

เลือกให้เงินอุดหนุนภาษีกับพรรคการเมืองแล้วเงินไปไหนต่อ?

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า เงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง เป็นเงินที่มาจากผู้เสียภาษีแสดงเจตนาตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (อ้างอิง มาตรา 69 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560) ซึ่งกรมสรรพากรมีหน้าที่ส่งต่อให้กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองภายในเดือนกันยายนของทุกปี (ข้อ 19 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง พ.ศ. 2560)

โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง มีหน้าที่จัดสรรเงินอุดหนุนของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำการเบิกเงินเพื่อใช้ทำกิจกรรมของพรรคได้ ซึ่งพรรคการเมืองสามารถเบิกเงินจากกองทุนฯ ไปใช้เพื่อการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคได้

แต่มีข้อแม้ว่า จะสามารถทำการเบิกจ่ายได้เป็นรายปี และการใช้จ่ายเงินจะต้องอยู่ภายใต้กรอบการใช้เงินที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) กำหนด และจะต้องมีหลักฐานการเบิกจ่ายทุกรายการให้ครบถ้วนถูกต้องด้วยเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ (ข้อ 26 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง พ.ศ. 2560) ด้วย

นั่นหมายความว่า เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว และพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ได้ทำการเบิกเงินจากกองทุนฯ เงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองที่ประชาชนได้แสดงเจตนาไว้ตอนยื่นภาษี จึงยังจะอยู่ในกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองต่อไป

เรื่องน่ารู้

1. การอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง และ การบริจาคพรรคการเมือง ไม่เหมือนกัน

  • การอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง สามารถทำได้ตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเท่านั้น โดยอุดหนุนได้สูงสุดไม่เกิน 500 บาท ซึ่งไม่มีผลให้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง และการอุดหนุนภาษีแบบนี้ไม่ใช่ค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง คือ เงินบริจาค หรือ สิ่งของที่ได้รับจากการทำกิจกรรมระดมทุนพรรคการเมือง และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามยอดเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และสามารถบริจาคได้มากกว่า 1 พรรค และหากบริจาคมากกว่า 1 พรรค ก็สามารถรวมเงินที่บริจาคให้ทุกพรรคมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

2. เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ เงินที่เข้ากองทุนฯ ไม่มีแค่เงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองเท่านั้น

เมื่อมีการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้น เงินที่เข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จะไม่ได้มีแค่เงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองที่ได้รับจากความประสงค์ของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ทรัพย์สินของพรรคการเมืองก็จะตกเป็นของกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองเช่นกัน

รวมถึงเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่พรรคการเมืองได้มาโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตาม พ.ร.ป. ฉบับนี้ด้วย เช่น พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ้างอิง มาตรา 72 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560)

เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบแล้ว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะนำเงินในบัญชีของพรรคไปเคลียร์หนี้สิน หรือ ขายทรัพย์สินของพรรคเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่ค้างอยู่ให้เรียบร้อย (ชำระบัญชี) และหากพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีเงินไม่พอชำระหนี้ กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ให้

ในทางกลับกัน หากหักลบกลบหนี้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว และพบว่าพรรคการเมืองยังมีเงินหรือทรัพย์สินอยู่ ทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองทันที เว้นแต่พรรคการเมืองจะกำหนดข้อบังคับไว้ว่า หากพรรคเลิกดำเนินกิจการแล้วจะโอนทรัพย์สินให้แก่องค์การสาธารณกุศลแห่งใด (อ้างอิง มาตรา 95 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560)

3. กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง คืออะไร?

กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง คือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 (หลังการปฏิรูปทางการเมืองในปี พ.ศ. 2540) โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การแก้ปัญหาทางการเงินของพรรคการเมือง โดยมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เป็นผู้กำหนดมาตรการและควบคุมดูแลกิจกรรมทางการเมือง

นอกจากนี้ กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง ยังมีหน้าที่จัดสรรเงินที่ได้รับจากกรมสรรพากรให้แก่พรรคการเมือง เพื่อทำกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ประกอบไปด้วย

3.1 เงินภาษีอุดหนุนพรรคการเมือง หรือ เงินที่ได้รับจากกรมสรรพากร ที่มีที่มาจากผู้เสียภาษีแสดงเจตนาตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (มาตรา 69)

3.2 จัดสรรเงินตามค่าบำรุงสมาชิกพรรค ร้อยละ 40 ของเงินค่าบำรุงสมาชิกพรรคที่ได้รับในปีที่ผ่านมา

3.3 จัดสรรเงินตามคะแนนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส

  • ปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป : พรรคการเมืองจะได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ ตามคะแนนเสียงที่พรรคได้รับจากการเลือกตั้งทั่วไป (ร้อยละ 40 ของวงเงินจัดสรร)
  • ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง : พรรคการเมืองจะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนตามอัตราส่วนเงินบริจาคภาษีเงินได้บุคคลประจำปีตามข้อ 1 (ร้อยละ 40 ของวงเงินจัดสรร)

3.4 จัดสรรเงินตามจำนวนสาขาของพรรคการเมือง คิดเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของจำนวนสาขาของพรรคการเมืองในขณะนั้น

จะเห็นได้ว่า การทำกิจกรรมของพรรคการเมืองจะต้องได้รับการสนับสนุนจาก 2 ฝั่ง ได้แก่ ภาครัฐ (ภาษี) และ เงินบริจาคจากหน่วยงานเอกชน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะมองมุมไหน การเมืองและภาษีก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราจำเป็นต้องสนใจอยู่เสมอ และทีมงาน iTAX หวังว่า บทความนี้จะช่วยคลายความคาใจของผู้เสียภาษีได้ไม่มากก็น้อย

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)