มาตรการปลดล็อคเมืองระยะที่ 3 เริ่ม 1 มิ.ย. ห้างเปิดถึงสามทุ่ม โรงหนังเปิดแล้ว อาบอบนวดรอไปก่อน

ทั่วไป

หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มลดลงแล้ว รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 9) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป มาดูกันว่าอะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้บ้าง

1. ยังห้ามออกนอกบ้านตอนกลางคืนอยู่ แต่ผ่อนคลายเป็น ห้าทุ่มถึงตีสาม

รัฐบาลยังคงประกาศห้ามทุกคนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลาห้าทุ่มถึงตีสี่ (23.00 – 03.00 น.) ของวันรุ่งขึ้น (ลดลง 1 ชั่วโมง จากเดิมที่ห้ามระหว่างเวลา 23.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามจังหวัด

ส่วนข้อยกเว้นเคอร์ฟิว เช่น กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ปฏิบัติราชการ หรือประกอบอาชีพเข้าเวรยามเวลากลางคืน ฯลฯ ยังคงยึดตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 3) ที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้

2. ผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจเพิ่มเติม

รัฐบาลผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้อีก ดังนี้

1) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์

ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ได้รับอนุญาตให้เปิดดําเนินการได้จนถึงเวลาสามทุ่ม (21.00 น.) แต่พื้นที่และกิจกรรมที่เปิดดําเนินการได้นั้น ยังคงให้งดการจัดการแข่งขัน กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่น

2) โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ

โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ สามารถดำเนินการได้หากจำกัดผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 200 คน สามารถนั่งเป็นคู่ได้ แต่ต้องสวมใส่หน้ากากด้วย

ส่วนโรงมหรสพแบบเฉพาะลิเก ลำตัด การแสดงพื้นบ้าน สามารถดำเนินการได้ตามปกติ

แต่การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดได้

3) คลีนิคเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สัก หรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

คลีนิคเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สัก หรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สามารถเปิดดำเนินการได้

4) ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี

ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับ บุรุษหรือสตรี สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ทำสีผมได้แล้ว แต่จำกัดการให้บริการรายละไม่เกิน 2 ชั่วโมงและต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน

5) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า

สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า สามารถดำเนินการได้ แต่จำกัดเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และยังให้งดการอบสมุนไพร อบไอน้ำแบบรวม และนวดใบหน้าอยู่

ส่วนกิจการอาบน้ำ กิจการอาบอบนวด ยังคงไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน

6) สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส

สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้เล่นแบบรวมกลุ่ม และยังไม่อนุญาตให้อบไอน้ำแบบรวม

7) สนามกีฬา เพื่อออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อม

สนามกีฬา เพื่อออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อม ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเก็ตบอล และวอลเลย์บอล สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องไม่มีการแข่งขัน และเป็นการรวมกิจกรรมไม่เกิน 10 คน

8) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน สามารถเปิดได้สำหรับการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการนัดหมาย จัดสรรแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองมารับกลับไป รวมถึงเตรียมความพร้อมสถานที่ตามมาตรฐานสาธารณสุข

9) ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ

ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการที่สามารถดำเนินการได้จะต้องจำกัดพื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร และเปิดไม่ถึงสามทุ่ม (21.00 น.)

10) สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง

สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ยังห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้คนชุมนุมหนาแน่นและไร้ระเบียบ

11) สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ต้องเปิดเพื่อการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อมเท่านั้น

12) สถาบันลีลาศ หรือ สอนลีลาศ

สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ

13) สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง

สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็นสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบาบาน่าโบ๊ท สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ต้องไม่เป็นการแข่งขันและต้องจำกัดจำนวนผู้เล่น

14) สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์

สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ต้องจำกัดผู้ร่วมกิจกรรมแบบรวมกลุ่ม

15) สนามมวย

โรงยิมหรือค่ายมวย สามารถเปิดดำเนินการได้เฉพาะการซ้อมแบบชกลม หรือการชกล่อเป้า ยังไม่สามารถมีคู่ชกได้ และห้ามมีผู้ชม

3. เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่มีหน้าที่รับผิดชอบมาตรการ social distancing

แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายให้เปิดสถานประกอบการหลายแห่งได้ แต่เจ้าของ/ผู้จัดการสถานที่ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกำหนด เช่น การจัดระเบียบ social distancing การวัดไข้ การจัดฉากกั้น รวมถึงการ check-in และ check-out เมื่อมีบุคคลเข้ามารับบริการ เป็นต้น

โดยระหว่างนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ แนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย รวมถึงเสนอให้ผู้ว่าฯ (หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย) สั่งปิดสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราวเฉพาะรายได้ ทั้งนี้ หากภายหลังเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรการที่กำหนดแล้ว ผู้ว่าฯ ก็มีอำนาจสั่งให้เปิดดำเนินการใหม่ได้ (กรณีผู้ว่าฯ เป็นผู้สั่งปิด)

4. ผ่อนคลายได้ แต่ก็อาจกลับมาล็อคดาวน์ใหม่ได้ ถ้าสถานการณ์แย่ลง

อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศกลับเพิ่มขึ้นหรือเกิดโอกาสเสี่ยงมากขึ้น รัฐบาลอาจระงับหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งผ่อนคลายมาตรการบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ที่มาของมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3

เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันและสถิติผู้เสียชีวิตในไทยจึงลดลงหรืออยู่ในระดับที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับจึงเพิ่มมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)