นโยบายภาษีอากร เพื่อการพัฒนาประเทศ จาก พรรคการเมือง

ทั่วไป

6,690 VIEWS

ห่างหายจากการเลือกตั้งกันไปหลายปี เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคิดถึงบรรยากาศการเลือกตั้งกันพอสมควร และแน่นอนว่า สำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามานั้น ไม่มีอะไรที่น่าสนใจมากไปกว่า การแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และจากนโยบายของหลายๆ พรรคที่ได้ผ่านหูผ่านตาทุกคนไปบ้างแล้วนั้น ย่อมก่อให้เกิดคำถามที่ตามมาว่า “รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน เพื่อใช้พัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” และบทความนี้เราจะมาสรุปให้ว่า แต่ละพรรคการเมืองนั้นมีแนวคิดในการจัดการภาษีที่เราเสียไปกันอย่างไรบ้าง? เราต้องบอกก่อนว่า คำตอบที่แต่ละท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นคำตอบที่มาจากงาน เสวนา เวที ฬ.จุฬา นิติมิติ นัดพิเศษ เรื่อง นโยบายภาษีอากรเพื่อการพัฒนาประเทศ เมื่อวันพุธ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา พรรคไหนจะตอบว่าอย่างไรบ้าง ทีมงาน iTAX รวมมาให้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์

 

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม พรรคประชาธิปัตย์

ไม่มีนโยบายเก็บภาษีเพิ่ม แต่ต้องหยุดการใช้กลภาษีไปกับเรื่องที่ทำให้ประชาชนเป็นหนี้ พร้อมแก้ไขระบบการจัดเก็บภาษี ให้ง่ายและเป็นกลางมากขึ้น  ใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บภาษี เพื่อตรวจสอบคนเสียภาษี หรือหลบเลี่ยงภาษีได้ และสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษายื่นแบบภาษี เพื่อความเคยชิน ป้องกันการหลบหนี้ที่นักศึกษามี (กรณีที่นักศึกษามีหนี้กยศ.)

สำหรับการแก้ไขปัญหาภาษีระยะยาว

ปรับระบบและโครงสร้างจัดเก็บภาษี

ยกฐานะ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อป้องกันไม่ให้คนในองค์กรถูกดึงตัวไปใช้ในธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น

ปรับกลไกเรื่องรายจ่าย

แยกสำนักงบประมาณแผ่นดิน ออกจากกระทรวงการคลัง เพื่อให้สำนักงบประมาณแผ่นดินมีอำนาจในการดูแลงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น และทุกการอนุมัติการใช้จ่ายจะต้องผ่านสภา เพื่อให้มีการตรวจสอบได้

ปรับโครงสร้างภาษีให้ทันสมัย

เช่น ภาษี E-Commerce เพื่อป้องกันการเสียเปรียบต่างชาติ ในกรณีที่ชาวต่างชาติมีการใช้นอมินีคนไทยในการถือครองทรัพย์สิน ควรกำหนดให้มีสแตมป์ในการซื้อทรัพย์สิน และต้องเก็บภาษีรายปีจากคนต่างชาติที่มีทรัพย์สินในไทย

สนับสนุนด้านการศึกษา

ปรับปรุงให้ลดความเหลื่อมล้ำและลดความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และพยายามขยายจำนวนผู้มีรายได้ด้วยการกระตุ้นการศึกษา เนื่องจากเหตุผลหลักที่ทำให้ไทยจัดเก็บภาษีได้น้อย มีสาเหตุมาจากมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เพื่อยกระดับหรือมีรายได้ที่ดีได้ ดังนั้น การให้เรียนฟรีในระดับปวช ปวส จะทำให้คนมีอาชีพมากขึ้น มีรายได้และฐานภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนคนที่เข้าระบบเพื่อเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับการจัดเก็บภาษีของภาครัฐในระยะยาว พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการออม เพื่อลดภาระรัฐบาลในการดูแลเมื่อเกษียณให้น้อยลง และสนับสนุนให้มีการ Re-skill ให้คนที่มีโอกาสตกงานในอนาคต เพื่อป้องกันฐานภาษีหดหายเนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้


พรรคประชาภิวัฒน์

 

คุณ วรวงศ์ ระฆังทอง พรรคประชาภิวัฒน์

ควรเพิ่มความรู้ด้านภาษีให้กับประชาชน นักบัญชี และเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ลดความเหลื่อมล้ำของภาษี เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายควรหักแค่ 1% และทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะได้รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมจากการเสียภาษี  ทั้งนี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ควรจะสูงกว่านิติบุคคล เพราะการจดนิติบุคคลจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ลดภาษี จากการขยายฐานภาษี ด้วยการพยายามให้การจัดเก็บภาษีมีความครบถ้วนและเป็นธรรมมากขึ้น เพราะแม้ฐานภาษีจะกว้างมาก แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเก็บภาษีได้ครบ อัตราภาษีจะลดลงอย่างแน่นอน พร้อมโครงการสะสมแต้ม ลดหย่อนทุกปีตั้งแต่เสียภาษี

กำหนดมาตรการทางภาษีลดหย่อนให้ธุรกิจเอกชน

เพื่อให้ธุรกิจเอกชนมีส่วนช่วยป้องกันมลภาวะที่เกิดขึ้น เช่น ลดภาษีรถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะ เพื่อลดมลภาวะ ให้มาตรการทางภาษีแก่บริษัทที่ปล่อยมลภาวะหรือปล่อยของเสียลงแม่น้ำลำคลอง

ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเสมอภาคกัน

เช่น สร้างค่านิยมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสียภาษี, สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนภูมิใจที่ได้เสียภาษี, ปกป้องคนที่อยู่ในระบบ และทำให้คนเข้าระบบภาษีเพิ่มมากขึ้น, เพิ่มความรู้ด้านภาษีให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ

ใช้ระบบสะสมแต้มแบบบัตรเครดิต

เมื่อคุณเสียภาษีและคุณสะสมแต้ม คุณสามารถนำสิทธิตรงนี้ไปลดหย่อนภาษี หรือสามารถใช้สิทธิอื่นๆ ได้

ตรวจสอบได้

ควรใช้งบประมาณอย่างเป็นธรรม การใช้จ่ายของรัฐต้องมีเหตุผล มีการชี้แจ้งให้ประชาชนทราบ ตอบโจทย์ประชาชนได้ และทุกๆ การใช้จ่ายประชาชนจะต้องเห็นด้วย ต้องมีความโปร่งใส รวมถึง ยกเลิกงบลับ งบที่เปิดเผยไม่ได้


พรรคประชาชาติ

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ

สนับสนุนให้มี การคำนวณภาษี และปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้ง่ายขึ้น จัดตั้งองค์กรที่สามารถจัดการนโยบายภาษีได้ทั้งรายจ่ายและรายรับ ใช้ฐานชุมชนท้องถิ่นจัดการภาษี เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร ในกรณีที่มีการเรียกเก็บภาษี

ปฏิรูประบบภาษีอากร และงบประมาณ

ควรมีองค์กรหรือสถาบันเพื่อดูแลทั้งรายรับและรายจ่าย องค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชน  ไม่ยึดโยงกับผู้มีอำนาจ ภายใต้แนวคิดที่ว่า อะไรเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน ภาษีของแผ่นดินต้องเป็นของประชาชน

ลดความเหลื่อมล้ำ

ลดความเหลื่อมล้ำด้านโครงสร้างภาษี พร้อมกับจูงใจให้คนเสียภาษีเพิ่มขึ้น ลดการหลบเลี่ยงภาษี

ปรับลดสิทธิประโยชน์ BOI

ปรับลดสิทธิประโยชน์ BOI, และกำหนดให้มีเพดานถือครองที่ดิน อะไรที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน จะต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน ไม่ใช่ทรัพย์ของข้าราชการ


พรรคไทยศรีวิไลย์

 

คุณ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์

ลดหนี้รัฐ สร้างสวัสดิการประชาชน

ลดค่าครองชีพ ด้วยการ ซื้อ ปตท. คืน พร้อมทั้งลดการจัดเก็บ ภาษีสรรพสามิต

ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

ข้าราชการระดับ 8 – 11 พร้อมทั้งออกนโยบายยกเลิกเลขธนบัตรเพื่อไม่ให้นำเงินที่เก็บไว้ออกมาใช้จ่ายได้ ข้าราชการที่ถูกตรวจสอบจะต้องชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินให้ได้ หากไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้จะถูกยึดทรัพย์ แต่หากเอาเงินมาคืนจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ และจะไม่โดนโทษไม่ประหารแต่ให้ไปบวชแทน

ยึดทรัพย์นักการเมืองและนักธุรกิจ

นำเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์มาใช้หนี้รัฐ และใช้เงินที่ได้จากการยึดทรัพย์สร้างสวัสดิการให้ประชาชน ตั้งแต่เกิดยันตาย เช่น เพิ่มค่ารักษาพยาบาล, เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1500 บาทต่อเดือน, ชำระภาษีน้ำมัน เอาปตท คืน ลดราคาน้ำมัน ให้ปตท มีกำไรเฉพาะโรงกลั่นเท่านั้น, พร้อมกำหนดราคาสินค้าใหม่ทั่วประเทศ จะทำให้รายจ่ายลดลง

สภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

และต้องเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทรัพย์สินได้ รายได้จากงานวิจัยต้องเสียภาษี เพื่อที่จะได้ลดค่าเทอมนักศึกษาในระดับ ปริญญาตรี และปริญญาโท ได้มากขึ้น


พรรคไทยรักษาชาติ

 

คุณ พิชัย นริพทะพันธุ์ พรรคไทยรักษาชาติ

ยกระดับคนชั้นกลาง เชื่อว่ารัฐจะสามารถขยายฐานภาษีและปรับลดอัตราภาษีของประเทศได้ เมื่อประชาชนมีรายได้มากพอ สนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เช่น การยกระดับภาคเกษตรไปภาคบริการ สร้าง Community ของเศรษฐกิจใหม่ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้ เพราะจะทำให้ภาครัฐจะสูญเสียรายได้ พยายามผลักดันให้ทุกคนต้องยื่นแบบแสดงภาษี เพื่อป้องกันการทุจริตและหลบเลี่ยงภาษี และสามารถตรวจสอบคอรัปชั่นได้ รวมถึง

ลดขนาดของภาครัฐ

ภายใต้แนวคิด รัฐต้องเล็กและรวย เพื่อลดรายจ่ายของรัฐ ในการแบกรับข้าราชการน้อยลง เพื่อมีเงินไปใช้พัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น

คิดระบบภาษีล่วงหน้า

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอนาคต ป้องกันการสูญเสียรายได้ในอนาคต

สร้างรายได้

ไทยต้องกลับไปเป็นศูนย์กลางอาเซียน ผลักดันให้ต่างชาติมีการลงทุนในประเทศมากขึ้น


 พรรคเพื่อไทย

 

คุณ กิตติรัตน์ ณ ระนอง  พรรคเพื่อไทย

ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง ครบทุกด้าน เพราะความไม่เรียบง่ายในการจัดเก็บภาษี นอกจากจะทำให้เกิดความยุ่งยากแล้ว ยังทำให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวางอีกด้วย มองการจัดเก็บภาษีเป็นองค์รวม ไม่ใช้วิธีกรมไหนเก็บภาษีได้มากสำคัญมาก ดูแลเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีให้ต่ำ จะเป็นผลดีกับอนาคตมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันการใช้ระบบธุรกิจเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

สร้างรายได้

รัฐจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มุ่งเน้นให้การส่งออกนำเข้าถูกต้องมากขึ้น เพราะการขึ้นภาษีไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้เก็บภาษีมากขึ้น

ปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ด้วยการซอยแบบขั้นบันได แต่ต้องทำได้หลังจากการขยายฐานภาษีเรียบร้อยแล้ว

ขยายฐานภาษี

การขยายฐานภาษีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออัตราภาษีต่ำ เพราะเมื่อฐานภาษีสูง ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกอยากหลีกเลี่ยง แต่หากฐานภาษีต่ำ ผู้จ่ายภาษีจะมีความรู้สึกว่าไม่คุ้มกับโทษที่จะได้รับจากการหลีกเลี่ยงภาษี

ทำภาษีให้ง่ายขึ้น

เพื่อให้การจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงให้ภาษีมีความเรียบง่ายในการคำนวณ มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเหตุผลของพฤติกรรม ผู้จ่ายมีความร่วมมือและความพึงพอใจ


พรรคภูมิใจไทย

 

คุณ ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย

เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมปรับปรุงระบบภาษี ผลักดันให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แก้ค่าลดหย่อนพร้อมออกแบบภาษีที่เหมาะสมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจ่ายภาษี และกำหนดให้ยื่นแบบเสียภาษีตั้งแต่อายุ 18 ปี (แม้จะไม่มีรายได้)

  • ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ปรับโครงสร้างหน่วยงานการจัดเก็บภาษี (เป็นองค์กรอิสระ)
  • ปรับค่าลดหย่อนให้เหมาะสม สนับสนุนให้ยังสามารถใช้ LTF RMF และประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีได้
  • ปรับกฎหมายภาษี
  • เก็บภาษีมลพิษและสิ่งแวดล้อม
  • หารายได้เพิ่มจากการสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชา (แคลิฟอร์เนียโมเดล)

รวมพลังประชาชาติไทย

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รวมพลังประชาชาติไทย

ปรับอำนาจสู่ท้องถิ่น

ผลักอำนาจสู่ท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า (นายกเลือกผู้ว่า 3 คนและให้คนในจังหวัดเลือก นายกและผู้ว่าต้องร่วมประชุมกันทุกเดือน) ผลักอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแล และบริหารตัวเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารสูงสุดของทุกหน่วยงานในจังหวัด แต่ให้รัฐบาลสามารถควบคุมและตรวจสอบได้

ทบวงจัดเก็บภาษีต้องอิสระ

หน่วยงานที่จัดเก็บภาษีต้องเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ใช้เงินเดือนราชการ ใช้วิธีการบริหารแบบตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นหลัก (เช่น 1% จากภาษีที่จัดเก็บได้) สามารถตรวจสอบได้ วิธีนี้จะทำให้ไม่มีการโกงภาษีอีก

ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราภาษีและการเก็บภาษีทรัพย์สิน

ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราภาษี เพราะจะทำให้คนหลีกเลี่ยงภาษีมากขึ้น และไม่ควรเก็บภาษีทรัพย์สิน ในกรณีที่ไม่มีรายได้จากทรัพย์สินนั้นๆ


พรรคเสรีรวมไทย

 

คุณ ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ พรรคเสรีรวมไทย

ปลูกผังทัศนคติเกี่ยวกับการเสียภาษี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการเสียภาษีเป็นภาระของทุกคน เป็นการทำหน้าที่ของพลเมืองดี ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสียภาษี เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้การหลบเลี่ยงภาษีน้อยลง นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะ

ผลักดัน Cashless society

เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของร้านค้า และคนที่อยู่นอกระบบ ป้องกันการปรับแต่งภาษี

ลดการใช้ดุลยพินิจของภาครัฐ

เพราะเชื่อว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี (ป้องกันการทุจริตที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ)

ปรับค่าลดหย่อนภาษีให้เหมาะสม

พิจารณาสิทธิประโยชน์ LTF RMF  ให้เหมาะสม (พิจารณาปรับลดค่าลดหย่อนที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีรายได้สูง (คนรวย))

ปรับลดงบประมาณของแต่ละกระทรวงอย่างเหมาะสม

ตรวจสอบการคอรัปชั่นในหน่วยงานราชการ ปฏิรูปกองทัพ ติดตามผลว่ากองทัพใช้งบอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิผลมากแค่ไหน ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ กิจการที่มีกำไรทำต่อ แต่ส่วนที่เอกชนทำได้ดีกว่า (ทำแทนได้) รัฐควรยกเลิก เพื่อลดหนี้ผูกพันธ์ที่เกิดจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ

ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ยกเลิกยกเว้นภาษีบางตัวที่เอื้อให้คนมีรายได้สูงโดยเฉพาะ

ไม่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม

เก็บภาษีทางตรงให้มากขึ้น ไม่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะทำให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย

กระจายอำนาจการจัดการสู่ท้องถิ่น

มอบอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บและบริหารเองได้

เพิ่มการลงทุน

ส่งเสริมและสร้างแรงจูงในการลงทุน พร้อมปรับลดสิทธิประโยชน์จากนักลงทุนต่างชาติ


พรรคอนาคตใหม่

 

คุณ ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่

ต้องการเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ ด้วยการปูพื้นฐานสวัสดิการที่มั่นคงให้กับทุกคนในสังคม ไม่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อป้องกันการตกหล่น พร้อมทั้ง

เกลี่ยงบ พร้อมจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณใหม่

โดยไม่เบียดบังงบการลงทุน โครงสร้างต่างๆ ยังสามารถจ่ายเงินกู้ได้ และมีงบกลางสำหรับเงินสำรอง

ปฏิรูประบบภาษี ขยายฐานภาษี

ไม่ว่าจะเป็น ขยายฐานภาษีเงินได้ (เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน), ขยายฐานภาษีทรัพย์สิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่ม 2 – 3 เท่า, ภาษีมรดก ทำให้จัดเก็บได้จริง ลดอัตราขั้นต่ำ เพิ่มอัตราให้เป็นขั้นบันได, เพิ่มการจัดเก็บภาษีจากองค์กรส่วนท้องถิ่น

เพิ่มแรงจูงใจให้คนอยากเสียภาษี

เช่น การเปลี่ยนใบเสร็จเป็นล็อตเตอรี่ ทำให้การใช้จ่ายเงินภาษีมีความโปร่งใส และใช้เทคโนโลยีในการเข้าสู่ระบบบัญชี เพื่อเพิ่มฐานภาษีธุรกิจจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย

ปรับลดสิทธิประโยชน์การลงทุนของ BOI

เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไม่ได้ขาดแคลนเงินทุน จึงควรเพิ่มเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นการลงทุนต่างประเทศ ตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าอยากได้อุตสาหกรรมแบบไหน ลดการให้แบบแจกหว่าน

ไม่ยกเลิก RMF

ทำเพียงแค่ลดสิทธิ์ประโยชน์ของกองทุน RMF ลงเท่านั้น ไม่ว่าจะซื้อเท่าไหร่ อยู่ในอัตราภาษีช่วงไหน จะลดหย่อนได้เพียง 15% เท่านั้น มนุษย์เงินเดือนยังสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ และจำกัดการหักค่าลดหย่อนสำหรับบุคคลที่มีรายได้ ตามมาตรา 40(6) 40(7) 40(8) ให้มีการหักค่าใช้จ่ายเท่ามนุษย์เงินเดือน

ทบทวนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

พยายามทำให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อป้องกันการโยกย้ายเงิน พร้อมลดต้นทุนการทำระบบภาษีของ SME ขยายฐานการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 1.8 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท และให้ธุรกิจที่มีรายได้เกิด 1.8 ล้านบาท จ่ายเป็นภาษีจากการขายที่ 2%

เพิ่มค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดา

เพิ่มค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดาตามเงินเฟ้อ หรือตามสภาพสังคมในปัจจุบัน ผลักดันให้สวัสดิการของรัฐทั่วถึงมากขึ้น ทำให้สวัสดิการของรัฐไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องการให้ชนชั้นกลางได้รับสวัสดิการของรัฐ เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนรู้สึกว่า เงินภาษีที่จ่ายไปส่วนหนึ่งแล้วกลับมาเป็นสวัสดิการเพื่อคนเหล่านี้ด้วย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในแง่ของความรู้สึก และระบบสาธารณะต้องมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสูงขึ้น

ทำให้ภาษีกลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน

ผลักดันให้วิธีการยื่นภาษีบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้มีการยื่นแบบที่ถูกต้อง สนับสนุนให้มีการยื่นแบบภาษีตั้งแต่อายุ 18 ปี ไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดด้านภาษีที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคได้แสดงให้พวกเราเห็น และหากใครที่ตามหาไลฟ์นี้เต็มๆ สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/LawChula/videos/313044476236082/

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)