ต้องทำยังไง เมื่อพบว่า ธุรกิจเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

SME

1,119 VIEWS

หากคุณทำการเช็กลิสต์ในบทความ ทำธุรกิจแบบนี้ เสี่ยงต่อการโดนสรรพากรตรวจสอบนะ รู้ยัง? และพบว่า ธุรกิจของคุณเข้าข่ายที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เพราะทุกอย่างมีทางแก้ไข และ iTAX อยากบอกให้คุณเริ่มต้นที่

รีบแก้ไขและทำทุกอย่างให้ถูกต้อง

ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการ แก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้องอีกแล้ว และกรมสรรพากรให้คำแนะนำว่า หากพบว่ากิจการของคุณจะถูกนับเป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการเสี่ยง สรรพากรแนะนำให้หยุดการยื่นแบบภาษี หรือการยื่นงบปี 2561 ไว้ก่อน แต่แม้จะได้รับคำแนะนำแบบนี้ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะไม่ว่าอย่างไร คุณจะต้องทำการแก้ไขให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. 2562 (เพิ่มเติมที่ : สรรพากรใจดี เปิดทาง SMEs เข้าระบบ เว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม)

กรมสรรพากรยังบอกต่ออีกว่า ผลเสียของการไม่ปรับปรุงงบการเงิน และแบบแสดงรายการภาษี จะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น เพราะธนาคารมองว่าธุรกิจของคุณไม่มั่นคงพอ และ มีความเสี่ยงสูง

เริ่มต้นแบบไหน หากธุรกิจเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

สำหรับผู้ประกอบการที่ตรวจเช็กเรียบร้อยและพบว่า ธุรกิจของคุณจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และอาจจะถูกสรรพากรตรวจสอบบัญชีและภาษีย้อนหลังนั้น คุณจะต้องทำการแก้ไขดังต่อไปนี้

1. ปรับปรุงงบการเงิน และแบบแสดงรายการภาษี

  • ย้อนกลับไปดูรายได้ตั้งแต่ปี 2559 – 2560
  • ทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ
  • ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (ระยะเวลาการลงทะเบียนตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562)

** การปรับงบของปี 2559 – 2560 จะช่วยส่งผลให้ งบการเงินของปี 2561 มีความถูกต้อง มั่นคง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น

ธุรกิจที่มีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะได้รับสิทธิ

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการนั้น จะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

  1. ต้องเป็นนิติบุคคลที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ
  2. รายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท (รอบครบ 12 เดือนที่สิ้นสุดก่อน หรือภายในวันที่ 30 กันยายน 2561)
  3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562
  4. ไม่เป็นผู้ออก หรือ ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ที่ถูกกรมสรรพากรแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว
  5. ลงทะเบียนผ่านกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562

สิทธิประโยชน์ ที่ธุรกิจจะได้รับ เมื่อปรับปรุงงบการเงิน และภาษีเรียบร้อยแล้ว

หลักๆ คือ การยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เมื่อลงทะเบียน ยื่นแบบและชำระภาษี ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 **ย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี เพราะคุณยังจะต้องจ่ายภาษีอยู่เหมือนเดิม แต่เป็นเพียงการยกเว้นค่าใช้จ่ายในส่วนของเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญาเท่านั้น

** สามารถยื่นแบบทุกประเภท ผ่านระบบ e-Filing ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563

และหากธุรกิจของคุณทำการยื่นแบบภาษีไม่ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 คุณจะไม่ได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับตามมาตรการนี้อีก และอาจจะต้องเตรียมตัวรับมือกับเบี้ยปรับ 1 – 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (18% ต่อปี) ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย **เบี้ยปรับ 1 เท่าที่สรรพากรหมายถึงคือ ปรับ 100%

ซึ่งแน่นอนว่า เป็นอัตราเบี้ยปรับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้บริการ บสย หรือ บริการจากธนาคารต่างๆ ซึ่งทางกรมสรรพากรแจ้งว่า หากเจ้าของธุรกิจเข้าร่วมมาตรการนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่ง จะมีมาตรการสนับสนุน และคุณสามารถนำยอดภาษีติดต่อธนาคารที่รับผิดชอบดูแลธุรกิจของคุณ (จะติดต่อเอง หรือติดต่อผ่าน บสย. ก็ได้ทั้งนั้น) จากนั้น ท่านจะสามารถนำเงินที่ได้รับการอนุมัติมาจ่ายชำระภาษีให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ได้

หลังจากที่ท่านดำเนินการจ่ายภาษีทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และเริ่มเข้าสู่ มาตรการบัญชีชุดเดียว ไม่ว่าท่านจะต้องการยื่นภาษีอะไรก็ตามแต่ สรรพากรขอความร่วมมือให้ท่านทำการยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ (e-Filing) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563

ภาษีแบบไหน สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ (e-Filing) ได้?

สรรพากรแจ้งว่า ในปัจจุบัน ระบบยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร (e-Filing) สามารถรองรับการยื่นแบบทุกประเภทภาษีได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น

  • ภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 / ภ.ง.ด. 91 / ภ.ง.ด. 94
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 / ภ.ง.ด. 51 / ภ.ง.ด. 52 / ภ.ง.ด. 54 / ภ.ง.ด. 55
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม( VAT) ภ.พ. 30 / ภ.พ. 36
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ. 40
  • ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 / ภ.ง.ด. 2 / ภ.ง.ด. 3 / ภ.ง.ด. 53

**ยกเว้น ภ.ง.ด. 1 ก / ภ.ง.ด. 2ก / ภ.ง.ด. 3ก และ ภ.ธ 40 กรณีที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอนาคตจะมีการรองรับการชำระอากรเป็นตัวเงิน และรองรับการยื่นแบบเกินกำหนดเวลา

หลากหลายช่องทางการชำระภาษี

  • E-payment
  • Internet banking
  • ATM
  • Counter Service
  • สำนักงานพื้นที่สาขาของกรมสรรพากร

** ในอนาคตอาจจะรองรับการชำระภาษีด้วย พร้อมเพย์ (PromptPay)

ช่องทางการลงทะเบียน ยื่นภาษีออนไลน์ (e-Filing)

ในปัจจุบันเจ้าของกิจการสามารถเลือกลงทะเบียนใช้งาน e-Filing ได้ 2 ช่องทาง คือ

  1. เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th)
  2. ลงทะเบียนผ่าน Tax SSO ของกระทรวงการคลัง (https://etax.mof.go.th)

หลังจากสมัครใช้งานเรียบร้อย สามารถใช้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน ล็อคอินเพื่อเข้าใช้งานได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านจะต้องชำระค่าภาษีให้ครบถ้วน จึงจะถือว่าการยื่นแบบภาษีนั้นสมบูรณ์แล้ว

สิทธิพิเศษ ของสมาชิก e-Filing

  1. ได้รับการขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษี ออกไปอีก 8 วัน นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลาในทุกแบบภาษีที่ท่านยื่น
  2. สิทธิที่จะได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น

ระบบยื่นภาษีออนไลน์ (e-Filing) กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

1. ทางเลือกในการใช้บริการ

ต่อจากนี้ไปท่านจะมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น หากท่านยื่นแบบด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ท่านจะได้ใช้ระบบงานที่ปรับปรุงใหม่ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ครอบคลุมทุกการยื่นแบบภาษี ไม่ว่าจะเป็น การยื่นแบบภาษีปกติ การยื่นแบบภาษีเพิ่มเติม และยื่นเกินกำหนดเวลา นอกจากนี้ ท่านยังสามารถใช้งานโปรแกรม window application เพื่อยื่นแบบภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย

2. สำนักงานบัญชีตัวแทนก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้

สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้จัดทำบัญชีเองก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะในอนาคต สำนักงานบัญชีตัวแทน (Tax Agent) จะสามารถยื่นแบบภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ให้ท่านได้เช่นกัน

3. สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟแวร์บัญชีออนไลน์ ในการบริหารจัดการภาษี

ในอนาคตท่านจะสามารถจัดเตรียมข้อมูลแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบ ผ่านซอฟแวร์ที่ท่านใช้บริการส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรผ่านระบบ RD Open API ได้เลย

กรมสรรพากรเอื้อประโยชน์และพยายามทำให้การเสียภาษีธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขนาดนี้ เพราะต้องการให้ผู้เสียภาษีทุกท่านรู้สึกว่า ภาษีไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องหลบเลี่ยงอีกต่อไป แน่นอนว่า หากคุณไม่อยากให้ธุรกิจต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสียงที่จะต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง การทำทุกอย่างให้ถูกต้องครบถ้วนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

และหากคุณกำลังมองหาผู้ช่วยมืออาชีพที่จะช่วยให้คุณปวดหัวกับการจัดทำบัญชีและภาษีธุรกิจน้อยลง iTAX sme คือสิ่งที่คุณกำลังมองหา เพราะเรามีทีมงานมืออาชีพสามารถช่วยวางแผนภาษีและจัดทำบัญชีที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้

ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787 แล้วคุณจะรู้ว่า ภาษีธุรกิจง่ายนิดเดียว!

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)