ข้อมูลผู้เสียภาษีใช้คัดกรองการให้เงินช่วยเหลือ COVID-19 ได้

ทั่วไป

1,571 VIEWS

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 ข้อมูลผู้เสียภาษีอาจมีประโยชน์ในการคัดกรองประชาชนที่จะรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำมาใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม
 

ให้เงินช่วยเหลือโดยอิงจากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีก่อน

 
สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้วเหมือนกับประเทศไทยและอีกหลายประเทศ แต่จุดที่อยากหยิบยกมานำเสนอ คือ รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้เสียภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
  1. เงินช่วยเหลือประชาชนนี้เรียกว่า Economic Impact Payments (แปลไทยคงประมาณ ‘เงินช่วยเหลือผลกระทบทางเศรษฐกิจ’) ซึ่งจ่ายตาม พ.ร.บ. CARES Act (Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act) ตามที่สภา Congress และประธานาธิบดี Trump เห็นชอบไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ซึ่งคาดกันว่าสหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณราว 2 ล้านล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 60 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยทั้งประชาชนและเจ้าของธุรกิจ
  2. ประชาชนสหรัฐฯ ทุกคน มีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,200 ดอลล่าร์ (ประมาณ 36,000 บาท) และถ้ามีภาระเลี้ยงดูบุตร ก็จะได้เงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มอีก 500 ดอลล่าร์ต่อบุตรหนึ่งคน (ประมาณ 15,000 บาท) เช่น ถ้าครอบครัวนึงอยู่กัน 3 คน พ่อแม่ลูก ก็จะได้เงินช่วยเหลือรวม 2,900 ดอลล่าร์ (ประมาณ 87,000 บาท)
  3. แต่ถ้าประชาชนมีเงินได้สูงอยู่แล้ว เงินช่วยเหลือจะเริ่มลดลง ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เกณฑ์การพิจารณา โดยอ้างอิงจากข้อมูลผู้เสียภาษี 2 ปีย้อนหลัง คือ เมื่อเงินได้สุทธิของผู้เสียภาษีเกิน 75,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 2.25 ล้านบาท) เมื่อไหร่ เงินช่วยเหลือเริ่มลดลง โดยเงินได้สุทธิส่วนเกินทุกๆ 100 ดอลล่าร์ (ประมาณ 3,000 บาท) จะส่งผลให้เงินช่วยเหลือลดลงทีละ 5 ดอลล่าร์ (ประมาณ 150 บาท) ดังนั้น หากเงินได้สุทธิเกิน 99,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 3 ล้านบาท) ก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออีกแล้ว เนื่องจากรัฐบาลมองว่าไม่น่าจะได้รับความเดือดร้อนมากจนต้องให้ความช่วยเหลือ 
  4. รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรสหรัฐฯ (IRS) ทำ 2 หน้าที่หลัก ได้แก่ คำนวณจำนวนเงินให้ความช่วยเหลือประชาชนแต่ละราย และ ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชาชนโดยตรง
  5. ในกรณีที่เป็นผู้เสียภาษีที่ยื่นภาษีช่วง 2 ปีล่าสุดอยู่แล้ว ประชาชนสหรัฐฯ ไม่ต้องลงทะเบียนอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องติดต่ออะไรทั้งสิ้น แค่อยู่เฉยๆ กรมสรรพากรจะโอนเงินให้เอง เพราะกรมสรรพากรมีข้อมูลผู้เสียภาษีครบถ้วนอยู่แล้ว แถมมีเว็บไซต์ให้เช็กสถานะเงินช่วยเหลือได้ว่าถึงไหนแล้ว
  6. แต่ถ้าเป็นประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นภาษีในช่วง 2 ปีหลังและไม่มีข้อมูลอื่นเพียงพอ ประชาชนกลุ่มที่อยู่นอกระบบนี้ต้องลงทะเบียนเพิ่มที่เว็บไซต์อยู่ เนื่องจากกรมสรรพากรไม่มีข้อมูล
  7. กรมสรรพากรไม่มีนโยบายติดต่อผู้เสียภาษีในทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสติดต่อไปหลอกลวงผู้เสียภาษี

กรมสรรพากรสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญอย่างไร

การมอบบทบาทให้กรมสรรพากรสหรัฐฯ​เป็นคนจ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชาชนโดยตรง มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ
  1. กรมสรรพากรมีข้อมูลผู้เสียภาษีอยู่แล้ว ทั้งที่อยู่ปัจจุบันและเลขบัญชีธนาคารที่ให้ไว้ตอนยื่นขอเงินคืนภาษี ทำให้กระบวนการคัดกรองและจ่ายเงินช่วยเหลือสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาให้ประชาชนทั้งหมดมาลงทะเบียนกันอีกรอบ ทำให้เงินถึงมือประชาชนรวดเร็วขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายขึ้น ตัดปัญหาประชาชนกรอกข้อมูลลงทะเบียนเองผิดๆ ถูกๆ ได้อย่างมาก ประหยัดต้นทุนทั้งเวลาและบุคลากรที่ต้องใช้คัดกรองคน เพื่อเอาไปใช้ติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่เหลือแต่ยังไม่มีข้อมูลในระบบแทน
  2. กรมสรรพากรทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์คอยเก็บภาษีทุกปีอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อมูลภาษีจึงเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือของรัฐบาล แถมยังเป็นข้อมูลที่อัพเดตล่าสุดไม่เกิน 1-2 ปี โอกาสที่ข้อมูลจะไม่ถูกต้องจึงเป็นไปได้น้อ
  3. การใช้ข้อมูลภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียภาษีในระบบ น่าจะเกิดผลทางจิตวิทยาเชิงบวกกับประชาชนอยู่บ้าง เพราะประชาชนจะเริ่มเห็นประโยชน์ของการอยู่ในระบบภาษี ทำให้คนในระบบภาษีอยู่แล้วรู้สึกคิดถูกที่อยู่ในระบบเพราะทำให้ตนได้รับความช่วยเหลือรวดเร็ว
  4. การมอบหมายให้กรมสรรพากรเป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชนชนก็น่าจะเกิดผลทางจิตวิทยาเชิงบวกด้วยเช่นกัน เพราะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกรมสรรพากรกับผู้เสียภาษีได้ ยิ่งกรมสรรพากรจ่ายเร็ว ยิ่งเกิดความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นเท่านั้น

ข้อสังเกตบางประการ

  • อ้างอิงข้อมูลจาก World Bank 2018 รายได้เฉลี่ยต่อประชากร (GNI per capita) ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 63,080 ดอลล่าร์ต่อปี (ประมาณเกือบ 2 ล้านบาท) การได้รับเงินช่วยเหลือ 1,200 ดอลล่าร์ จึงคิดสัดส่วน 1.9% ของรายได้เฉลี่ย ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อประชากรของไทย อยู่ที่ 6,610 ดอลล่าร์ต่อปี (ประมาณ 2 แสนบาท) การได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท x 3 เดือน จึงคิดสัดส่วน 7.5% ของรายได้เฉลี่ย แต่อย่างไรก็ดี การให้เงินช่วยเหลือของทั้ง 2 ประเทศอยู่บนพื้นฐานของการให้เงินจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพเหมือนกัน
  • น่าเสียดายที่ประชาชนในประเทศไทยหลายรายซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือถูกปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ หรือได้รับความช่วยเหลือช้ากว่าที่ควรจะเป็น สังเกตได้จากอัตราการฆ่าตัวตายเพราะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเริ่มปรากฏให้เห็นตามข่าวบ้างแล้ว
  • น่าสังเกตว่ารัฐบาลไทยจะทำให้กลุ่มผู้เสียภาษีที่อยู่ในระบบภาษีอยู่แล้ว ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รู้สึกได้รับประโยชน์จากการอยู่ในระบบภาษีในสถานการณ์ COVID-19 โดยวิธีใดได้บ้าง

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
CEO, iTAX

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)